ปศุสัตว์นครปฐม พร้อม ส.ส.นครปฐม เขต 1 ร่วมยกระดับผู้เลี้ยงแพะเพิ่มรายได้ครัวเรือน
จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมงและปศุสัตว์ โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของการอยู่ใกล้กับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวกและต้นทุนที่ไม่สูงมากเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองนครปฐม จัดโครงการควบคุมและป้องกันโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ในแกะ แพะ พื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม โดยดำเนินการให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ แกะ อำเภอเมืองนครปฐม โดยนายสมควร ปิยะพงศ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร (เสธ.แก้ว) ส.ส.นครปฐม เขต 1 พร้อมเข้าหน้าที่ปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่เพื่อนำการตรวจเลือดและฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งมีการรวมตัวในการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก
พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร (เสธ.แก้ว) ส.ส.นครปฐม เขต 1เผยว่า ในการจัดโครงการดังกล่าวเป็นการประสานงานขอความช่วยเหลือจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม เพื่อให้ช่วยหาทางป้องกันโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ในแกะ แพะ เนื่องจากหากมีการแท้งในการเพาะพันธุ์จะทำให้เกิดการสูญเสียและเกิดการขาดทุน ในการลงทุนด้านปศุสัตว์และจะทำให้สูญเสียรายได้ในครัวเรือนของเกษตร จึงได้ประสานงานหารือกับทางปศุสัตว์ เพื่อให้การช่วยแหลือพี่น้องเกษตรกร โดยเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กับการจะเริ่มประกอบอาชีพในช่วงคลายล๊อคดาวน์ ซึ่งที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการชะลอตัวและขาดรายได้ไปนานมาก การลงมาแก้ปัญหาตรงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางได้อย่างดีและทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นได้
นายสมควร ปิยะพงศ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่าการจัดโครงการดังกล่าว ได้มีการนำคณะสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ที่ต้องสงสัยและหากพบจะมีการรักษาให้หาย ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โดยพบว่าในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านยางมีการเลี้ยงแพะ แกะ หลายราย โดยบางรายทำเป็นอาชีพเสริม บางรายทำเป็นอาชีพหลัก ซึ่งการเพาะพันธุ์และได้ลูกมาคือการสร้างรายได้หลัก โดยนมและเนื้อแพะเริ่มได้รับความนิยมจากตลาดมากขึ้นหากเราควบตคุมโรคได้ก็จะทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกร
ขณะที่เกษตรกร ผู้เลี้ยงแพะ บอกว่า ปัจจุบันการเลี้ยงแพะในพื้นที่เคยเลี้ยงสายพันธุ์ให้นมได้ลดลงเพราะต้องใช้ต้นทุนสูง แต่รายได้ช่วงหลังลดลงเกษตรกรในพื้นที่จึงได้หันมาเลี้ยงแบบสายพันธุ์ที่จำหน่ายเนื้อ เพราะต้นทุนต่ำ การป้องกันโรคระบาดในการแท้งต่อเนื่อง คือสิ่งที่จำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ โดยปัจจุบันยังประสบปัญหาปุ๋ยราคาแพง ทำให้มีต้นทุนในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่หากได้รับการช่วยเหลือลดความเสี่ยงก็จะทำให้มีรายได้ที่มั่นคง
โดยอีกส่วนบอกว่าดีใจที่หน่วยงานรัฐได้หันมาให้ความสนใจในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ยอดการสั่งซื้อเนื้อแพะมีมากขึ้นเนื่องจากราคาเนื้อแพะมีราคา กิโลกรัมละ 120 บาทแต่เนื้อหมูพุ่งไปที่ 200 กว่าบาทแล้ว และเนื้อแพะยังอร่อยมีมันน้อยกว่า ทำให้เริ่มมีคนหันมาบริโภคมากขึ้น และมียอดการสั่งเข้ามาตลอดโดยหากมีการผลักดันให้มีราคากลับมาราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะกลับสู่สภาวะเดิมที่เคยจำหน่ายในราคานี้ได้
เกษตรกรในพื้นที่ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ทิศทางการเลี้ยงและการจำหน่ายดีมาก หากมีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มเพิ่มเติมจากเดิมให้สามารถแปรรูปได้เองก็จะทำให้เกิดรายได้มากขึ้นและยังมีพื้นที่สามารถเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นได้ด้วย หากมีการสนับสนุนที่ดีอย่างต่อเนื่องพื้นที่ตำบลบ้านยางก็จะเป็นแหล่งปศุสัตว์ที่สำคัญได้อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมไม่ยาก
ปนิทัศน์ มามีสุข – จ.นครปฐม