ตัวแทนอดีตพนักงาน เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ ได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 89 คน ในนั้นมี 10 คน ที่ยินยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว ส่วนอึก 79 คน ไม่ยอมรับเงินชดเชย เพราะทางบริษัทฯ จะจ่ายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย ยอดเงินชดเชยเลิกจ้างที่ทางบริษัทต้องจ่ายให้ รวมเป็นเงินกว่า 31 ล้านบาท แต่ทางบริษัทบอกว่าจะให้เงิน 5 ล้านบาท ให้ไปแบ่งกันเอาเอง จึงเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และไม่ปฏิบัติตามกฏหมายแรงงาน ทั้งที่ที่ผ่านมายอมบริษัททุกอย่าง ไม่ว่าจะลดเงินเดือน , หักเงินเบี้ยเลี้ยง , หักเงินค่าล่วงเวลา และการแบ่งจ่ายเงินเดือน เพราะเข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่ดีบริษัทประสบปัญหา ก็พร้อมที่จะปฎิบัติตามนโยบายของบริษัท เพื่อให้บริษัทอยู่รอด เพราะถือเป็นบ้านอีกหลังที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่สุดท้ายก็มาถูกเท เลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องกลายเป็นคนตกงานโดยไม่รู้ตัว จึงมาปรึกษากับนายเดชาเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และทวงคืนความยุติธรรม
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ เปิดเผยว่า การที่ทางบริษัทฯ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามหลักเกณฑ์ ถือเป็นการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 กรณีนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดทันที
สำหรับกรณีนี้จะมีผู้เข้าข่ายความผิด 3 กลุ่ม คือ บริษัท , กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจในการเลิกจ้าง
เบื้องต้นนายเดชาให้คำแนะนำว่า อดีตพนักงาน บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ควรไปยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อน เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการฟ้องศาลแรงงาน กรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องฟ้องแยกอีกส่วน นายเดชาจะช่วยเหลือทางคดีต่อไป
ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.65 เวลา 09.00 น.) อดีตพนักงานจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักสวัสดิการคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 ด้วย
ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัทต้องเลิกกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องหรือเอาผิด หากนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คุ้มครองลูกจ้างทุกคนอยู่
อย่างไรก็ตาม สำหรับการออกประกาศเรื่อง “ยุติการทำงานบางส่วน” ทาง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ระบุว่า ได้ดำเนินงานด้านการผลิตสื่อสำหรับโทรทัศน์ การสร้างบุคลากรสำหรับวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง การรับจ้างสร้างสรรค์และผลิตงานสำหรับภาครัฐและเอกชน ติดต่อมาเป็นระยะเวลา 43 ปี ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่ออย่างมาก ทั้งการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก ทั้งผลกระทบจาก DIGITAL DISRUPTION และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ตลอดมาบริษัทฯ จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ต่อไป และจะได้สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ชม แต่ก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายได้ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงเห็นสมควรที่จะยุติการดำเนินงานบางส่วนลงนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป