“กมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการ “แนวทางการบูรณาการโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ”
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดการสัมมนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “แนวทางการบูรณาการโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นประธานในพิธี โดยมี นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และคณะกรรมาธิการ ตลอดจน พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่และบุคลากรจากหน่วยงานรับแจ้งเหตุทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
นายไชยา พรหมา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 ที่เห็นชอบในหลักการกำหนดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว (Nation Single Emergency Number) ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ตนและคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรได้รับข้อร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง จนทำให้ยกเลิกทีโออาร์ถึง 2 ครั้ง ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เรื่องดังกล่าว ขาดการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งต่างก็มีหมายเลขฉุกเฉินเป็นของตนเองยากแก่การจดจำ
นายไชยา ยังกล่าวอีกว่า “ปัญหาการขาดการบูรณาการร่วมกัน นำมาสู่ปัญหาในการสั่งการเมื่อเกิดภัยฉุกเฉินขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงเป็นที่มาของการเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน ตลอดจนเสนอแนะทางด้านเทคนิคเพื่อให้การร่างทีโออาร์ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถตอบโจทย์การบริการประชาชน ให้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อให้ได้ โดยการสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการบูรณาการและทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินอย่างแท้จริง และเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน”
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด นายกองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ หน่วยกู้ภัย และประชาชนที่สนใจ จำนวนทั้งสิ้น 500 คน