“รองปลัด กทม.-ผอ.เขตพระนคร” ตรวจสอบความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง ของโป๊ะเทเวศว่
วันนี้ (8 พ.ย.) เวลา 14.00 น. นายสุขสันต์ กิติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมทีมงานและเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกันลงที่มายังท่าเรือเทเวศน์ เพื่อตรวจความพร้อมและมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณโป๊ะท่าเรือจุดลอยกระทง รวมทั้งความมั่นคงแข็งแรงของท่าเทียบเรือ ท่าน้ำ และโป๊ะ
นายสุขสันต์ กิติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวถึงการเน้นย้ำของผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องประชาชนในการร่วมงานเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งจากการคาดการณ์ในวันนี้ จะมีประชาชนออกมาลอยกระทงเป็นจำนวนมาก หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ได้คลี่คลายลง ท่านได้เน้นย้ำให้ดูในเรื่องความแข็งแรงของโป๊ะ ท่าเรือ และได้มีการจัดระเบียบคนเข้าคนออกไม่ให้เกิดความหนาแน่น การอำนวยความสะดวกในการลอยกระทง รวมไปถึงการทำบุญได้เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ทำบุญโดยการนำเงินใส่กระทง โดยจะมีการตั้งกล่องรับบริจาค และจะนำปัจจัยไปถวายให้กับทางวัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเด็กมาเก็บเงินในกระทง แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะดีขึ้น แต่ยังคงเน้นย้ำในเรื่องของหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม
ส่วนเรื่องการจัดคิวให้คนลงมาลอยกระทงนั้น ด้านผอ.เขตจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยตนได้เน้นย้ำห้ามให้คนลงไปลอยกระทงในโป๊ะเป็นจำนวนหนาแน่น ไม่ควรเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนโป๊ะที่สามารถรองรับคนได้ แต่หากว่ามีประชาชนมาเป็นจำนวนมากก็ต้องมีการกั้นจัดระเบียบคนเข้าและออกให้สมดุลกัน โดยจะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำไว้จำนวน 4 ท่าน และฝากถึงประชาชนว่าวันนี้เป็นวันลอยกระทง ถือเป็นวันดีที่พวกเราที่จะได้ทำตามประเพณีไทย จึงอยากขอความร่วมมือช่วยดูแลซึ่งกันและกันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
ถัดมาที่ นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวถึงโป๊ะและท่าเรือในพื้นที่เขตพระนครที่จัดให้มีการลอยกระทงนั้น ทางสำนักงานเขต ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ, อพปร. และปภ. ประจำจุดเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย โดยจะจัดให้คนลงไปลอยกระทง โดยแบ่งเป็น 1 ครั้ง ไม่เกิน 10 คนต่อ 1 โป๊ะท่าเรือ หากเกินจำนวนก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยเข้าไปตักเตือนและจัดให้คนลงลอยกระทงตามอัตราที่คำนวณไว้ ฝากขอความร่วมมือกับประชาชนที่มาร่วมงานวันลอยกระทง ว่าไม่ให้มีการจุดบั้งไฟหรือกระทงสวรรค์รวมไปถึงการจุดพลุปะทะต่างๆ หากฝ่าฝืนจะมีการตักเตือน แต่หากพบการจำหน่ายก็จะดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สำหรับท่าเทียบเรือ ท่าน้ำ และโป๊ะ ในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 404 ท่า พบว่ามีสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 376 ท่า และไม่พร้อมใช้งาน จำนวน 28 ท่า ในส่วนของสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง มีจำนวน 33 แห่ง