“ศักดิ์สยาม” ตรวจ “สุวรรณภูมิ”เร่งลดความแออัด เตรียมพร้อมให้บริการผู้โดยสารช่วงการประชุม “เอเปค”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก และการเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวก ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งแก้ปัญหาความแอแออัดของผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกในวันนี้ ได้ตรวจความพร้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ให้กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวและให้บริการได้รวดเร็ว สำหรับจุดตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการประสานการทำงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการการให้บริการผู้โดยสารเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเน้นย้ำให้ ทอท. วิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณความต้องการการเดินทางและเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้การบริการเกิดความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้เดินทาง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อลดความแออัดของจำนวนผู้โดยสารในท่าอากาศยาน สำหรับพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีช่องตรวจอนุญาต ทั้งสิ้น 119 ช่องตรวจ แบ่งเป็นโซนตะวันออก จำนวน 56 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 3,360 คน/ชม. โซนกลาง จำนวน 20 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชม. โซนตะวันตก จำนวน 43 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 2,580 คน/ชม. นอกจากนี้ มีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ จำนวน 32 เครื่อง แบ่งเป็น ขาเข้า จำนวน 16 เครื่อง ขาออก จำนวน 16 เครื่อง
นอกจากนี้ ได้จัดทำเสากั้นทางเดินเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ไม่ให้เกิดความแออัดของผู้โดยสารขณะรอรับบริการในขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์เพื่อบริหารจัดการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการตรวจพบว่าดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพียงพอ พร้อมเน้นย้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษามาตรฐานการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งมีเที่ยวบินขาเข้าจำนวนมาก ทั้งนี้จากการตรวจติดตามการดำเนินงานทุกขั้นตอนพบว่าดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบริหารจัดการได้ดี ไม่มีปัญหาใด ๆ
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประชุมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสารขาข้าและขาออก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือเอเปค 2022 (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ร่วมกับกรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และท่าอากาศยานภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ บุคลากร และขั้นตอนการให้บริการ พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เพิ่มช่องตรวจอนุญาต จำนวน 19 ช่องตรวจ เพื่อรองรับผู้ข้าร่วมประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 โดยแบ่งเป็น โซนตะวันออก จำนวน 8 ช่องตรวจ (AE1 – 8) โซนกลาง จำนวน 4 ช่องตรวจ (AM17 – 20) และโซนตะวันตก จำนวน 7 ช่องตรวจ (AW1 – 7) รวมทั้งมอบให้ ทอท. จัดทำคลิปสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้บริการท่าอากาศยานทราบในทุกช่องทาง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเรื่องหลุมจอดอากาศยานขนาดกลางและขนาดใหญ่ของคณะผู้นำเขตเศรษฐกิจ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เตรียมความพร้อมหลุมจอดอากาศยาน เพื่อรองรับอากาศยานของคณะประมุขและผู้นำประเทศที่เดินทางเข้าร่วมประชุม APEC จำนวน 120 หลุมจอด โดยสามารถให้อากาศยานของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 4 ลำ และสามารถจอดพักค้างคืนบนพื้นที่จอดอากาศยานเฉพาะ จำนวน 16 ลำ (รวมทั้งหมด จำนวน 20 ลำ) ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถบริหารจัดการได้โดยไม่กระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อื่น ๆ ในส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เตรียมความพร้อมหลุมจอดอากาศยาน จำนวน 101 หลุมจอด โดยสามารถให้อากาศยานของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ จำนวน 17 หลุมจอด พร้อมกับมอบหมายให้ ทอท. ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาขนาดอากาศยานและขนาดพื้นที่ในการรองรับให้เหมาะสม โดยเน้นย้ำต้องให้ความสำคัญกับทุกเขตเศรษฐกิจ และดูแลอย่างเต็มที่ทั้งขาเข้าประเทศและขาออกประเทศ รวมทั้งการให้บริการ Ground Handing แก่อากาศยานของผู้นำ การให้พนักงานบริการประจำห้องรับรองพิเศษ การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยมอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ดำเนินการบริหารจัดการความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) ในช่วงเวลาการให้บริการเที่ยวบิน VIP และพิธีการต้อนรับภาคพื้นดิน การบริหารจัดการจราจรทางอากาศ และห้วงอากาศบริเวณพื้นที่ประชุม รองรับมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในกรณีปกติและฉุกเฉิน พร้อมจัดรถโดยสารสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากท่าอากาศยานไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร โดยมอบ ทอท. ประสานรายละเอียดกับกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติม โดยดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามหลักการและกฎระเบียบ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เพิ่มความถี่และความเข้มงวดในการตรวจตราทั้งในพื้นที่เขตการบิน (Airside) และพื้นที่สาธารณะ (Landside) โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการตอบรับเข้าร่วมในแต่ละเขตเศรษฐกิจมีข้อเสนอในการขอให้รักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน กระทรวงคมนาคมจึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลข้อเสนอการรักษาความปลอดภัยในแต่ละเขตเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับรองต่อไป