โฆษก ตร. เตือนภัย..!!
ตร. สั่งให้ทุกพื้นที่เร่งสืบสวนขยายผล แบงก์พันปลอมกำลังระบาด แนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น ย้ำหากรู้แล้วว่าปลอม แล้วนำมาใช้ มีโทษหนักจำคุก 15 ปี
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.65 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ได้กล่าวถึงปรากฏในสื่อต่าง ๆ ถึงกรณีพบว่ามีธนบัตรชนิด 1,000 บาท ปลอมระบาดหนักในหมู่บ้านย่านบางบัวทอง จว.นนทบุรี วันเดียวพ่อค้าแม่ค้าถูกหลอกเกือบ 30 ใบ นั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนจึงได้สั่งการไปยังสถานีตำรวจทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ผู้บังคับบัญชาลงไปกำชับให้เร่งรัดสืบสวนขยายผลเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งขบวนการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นสุจริตชน และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประสานข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกช่องหนึ่ง เพื่อแนะนำให้พี่น้องประชาชนได้ระมัดระวังในการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อจากการใช้ธนบัตรปลอมที่กำลังเริ่มระบาดอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในขณะนี้ สำหรับวิธีสังเกตในเบื้องต้นธนบัตรใบละ 1,000 บาท ที่ดูได้แบบง่าย ๆ เร็ว ๆ ว่าปลอมหรือไม่ ให้ดูที่ “แถบสีในเนื้อกระดาษ” ดังนี้
-เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร จึงเรียกว่า “แถบสีทอง”
-ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประแต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000
BAHT”
-เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว
และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้
-แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
-แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้
โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุไว้ว่า : ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 40,000 บาท
สำหรับการใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้าและบริการเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญาโดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ธนบัตรปลอมออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ เช่นได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังขืนนำออกไปซื้อสินค้าและบริการต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท “โฆษก ตร. กล่าวเตือน”