นายก รับ 8 ข้อเรียกร้อง เปิดวันแรงงานแห่งชาติ ย้ำ รัฐบาล มุ่งยกระดับศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานทุกมิติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2565 ณ กระทรวงแรงงาน พร้อมรับข้อเรียกร้องวันแรงงานทั้ง 8 ข้อ ย้ำ รัฐบาลมุ่งยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานในทุกมิติ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงข้าราชการกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้การต้อนรับ
โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา รมว.แรงงาน ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ในส่วนของการเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน ในปีนี้ได้ตั้งริ้วขบวนที่บริเวณท้องสนามหลวงและเคลื่อนมายังกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายสุชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลและกำกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถึงแม้ว่าประเทศไทยและประเทศทั่วโลกยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานยังมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในทำงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบ
กลุ่มเปราะบาง ยกระดับการประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่ความมั่นคง ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานในปีนี้ทั้ง 8 ข้อ ได้แก่ 1) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2) ให้เร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน 3) ให้ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 4) ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 5)ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 6) เร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 7) ให้จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ และ 8) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565 ว่ากระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากพี่น้องแรงงานโดยจะนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสานแจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักว่า
ทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงาน และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป
ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน มีดังนี้
การปฏิรูปการประกันสังคมในส่วนของการขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุนั้น จากเดิมไม่เกิน 60 ปีเป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ใน ร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ
การเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบนั้น ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพมีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
การรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.63 เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะนำเสนอให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้
การให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำแนวปฏิบัติของพนักงานตรวจแรงงาน กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด และชี้แจงนายจ้างให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายนั้นกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง พิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและงดจ่ายภาษีกรณีเงินออกจากงาน และขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ หากมีการแก้ไขจะมีผลบังคับใช้ทั้งลูกจ้างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจโดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ดำเนินการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษา ปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน
สำหรับกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติที่น่าสนใจในปีนี้ อาทิ บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 บริการสาธิตและนวดแผนไทย บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น กิจกรรมเล่นเกมตอบปัญหาแจกรางวัล กิจกรรมเสวนา เรื่อง เศรษฐกิจยุคโควิดมีผลกระทบกับแรงงานและค่าจ้างอย่างไร การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน การแสดงมายากล และบริการอาหารเครื่องดื่ม เป็นต้น