ตำรวจเดินหน้าปราบค้ามนุษย์ ‘ผอ.ศพดส.ตร.’ เผย 4 เดือน ปี 65 ดำเนินคดีแล้ว 85 ราย สั่งฟ้อง 100% ชี้แจง “คดีโรฮีนจา” ยันสำนวนรัดกุม ทีมอัยการ – ตร. ขยายผลถึงปลายทาง จับแล้ว 120 คน เร่งรัดตามจับอีก 30 คน เคลียร์ทุกปม ตีข่าว “ปวีณ” ถูกแทรกแซง กดดัน ตั้งคำถามการออกมาเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) เปิดเผยว่า วานนี้ ( 29 เมษายน 2565 ) ได้ประชุมเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
“ตลอดปีที่ผ่านมา ตร. เร่งรัดปราบปราม ดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ให้ความรู้ตำรวจเรื่องข้อกฎหมาย แนวทางการดำเนินคดี และข้อปฏิบัติต่อเหยื่อค้ามนุษย์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน กำชับดำเนินการอย่างเด็ดขาดทุกคดี โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกระทำผิด หรือมีส่วนรับผลประโยชน์ ต้องดำเนินคดีทั้งทางอาญา และทางปกครอง โดยไม่ละเว้น” พล.ต.อ.รอยฯ กล่าว
รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตร.มุ่งเน้นการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งแสวงหาพยานหลักฐาน ทั้งด้านนิติวิทยาศาสตร์ เอกสาร เส้นทางการเงิน ฯลฯ ให้ครบ ครอบคลุม ขยายผลไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ จากต้นทางถึงปลายทาง สำนวนคดีต้องมีประสิทธิภาพ รัดกุม สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยที่ผ่านมา ศพดส.ตร.มีแนวทางปฏิบัติ ให้พนักงานสอบสวนหารือกับพนักงานอัยการ สำนักคดีค้ามนุษย์ ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ทุกคดี ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถิติการสั่งฟ้องทุกคดีในชั้นอัยการ
“ในปี 2564 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ 188 คดี เป็นความรับผิดชอบของตร. 182 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 6 คดี จำแนกเป็น ค้าประเวณี 132 คดี สื่อลามก 13 คดี ผลประโยชน์รูปแบบอื่น 7 คดี เอาคนลงเป็นทาส 2 คดี ขอทาน 2 คดี บังคับใช้แรงงาน 15 คดี ขูดรีดและอื่นๆ 11 คดี โดยทั้งหมด โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี ต่อมาในปี 2565 ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 พบว่าสถิติการจับกุม ดำเนินคดีมนุษย์เพิ่มขึ้น เพียงช่วง 4 เดือนแรกของปี มกราคม – เมษายน 2565 จับกุมได้แล้ว 85 คดี เป็นความรับผิดชอบของตร. 83 คดี ดีเอสไอ 2 คดี จำแนกเป็นคดีค้าประเวณี 63 คดี สื่อลามาก 10 คดี ขอทาน 3 คดี บังคับใช้แรงงาน 7 คดี โดยยังไม่ปรากฏคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง” รองผบ.ตร. เผย
พล.ต.อ.รอยฯ เผยอีกว่า ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวม 664 ราย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 279 ราย ไม่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 320 ราย อยู่ระหว่างคัดแยก 65 ราย ขณะเดียวกันดำเนินคดีเรือประมงผิดกฎหมาย 13 ลำ จากการตรวจสอบ 2,116 ลำ นอกจากนี้ยังตรวจสอบคดีลูกเรือตกน้ำในช่วงปี 2563 – 2564 จำนวน 231 ราย พบลูกเรือถูกทำร้ายร่างกายก่อนตกน้ำเสียชีวิต 4 ราย แต่ยังไม่พบว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์
ผอ.ศพดส.ตร. ชี้แจงถึงคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา ในคดีอาญา ที่ 148/2558 ที่สำนักข่าวอัลจาซีรา นำเสนอการให้สัมภาษณ์ ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดี ว่า คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2558 ในพื้นที่ ตำบลปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จว.สงขลา พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งพนักงานสอบสวน 133 นาย มีพล.ต.อ.เอก อังสนานนนท์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และกำกับดูแลคดี เนื่องจากเป็นคดีที่มีความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน 12 ท่าน ในส่วนของตำรวจยังมี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน
“คดีนี้ เริ่มเมื่อ 3 พฤษภาคม 2558 ต่อมาเมื่อ 28 พฤษภาคม 2558 พล.ต.ต.ปวีณฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผบช.ภ.8 เข้าร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ตามหนังสือคำสั่งของอัยการสูงสุด คดีนี้ใช้เวลา 51 วัน ในการทำสำนวนจนส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ขยายผลจนพบผู้เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา 155 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย ออกหมายจับ 153 หมาย มีเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นผู้ต้องหา 22 คน ประกอบด้วย ทหาร 5 นาย, ตำรวจ 4 นาย, ปกครอง 12 ราย และเจ้าหน้าที่อนามัย 1 ราย จับกุมแล้ว 120 หมาย ถอนหมาย 3 หมาย เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างหลบหนี คงเหลือ 30 หมายจับ ที่ยังหลบหนี ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ส่งฟ้องทั้งหมด” รองผบ.ตร. กล่าว
พล.ต.อ.รอยฯ ที่ผ่านมาเร่งรัดติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 30 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงผู้สนับสนุน ช่วยเหลือในการกระทำความผิด ประกอบด้วย ชาวไทย และคนต่างด้าว จากการสืบสวนทราบส่วนใหญ่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงมอบหมายให้ ภ.9 ตำรวจสอบสวนกลาง และกองการต่างประเทศ ร่วมกันประสานประเทศที่เกี่ยวข้อง ติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม และ 24 มีนาคม ที่ผ่านมาก็ติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการนี้ได้เพิ่มอีก 2 ราย คดีนี้ตำรวจยังเกาะติด ไม่ได้ละเลย
กรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณฯ ระบุว่าถูกกดดันให้ช่วยเหลือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหารายสำคัญ ในคดีนี้ เพื่อให้ได้รับการประกันตัว พล.ต.อ.รอยฯ กล่าวว่า คดีนี้ทำในรูปแบบคณะกรรมการ มีทั้งนายตำรวจผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูงกว่า พล.ต.ต.ปวีณฯ และอัยการเป็นทีมพนักงานสอบสวน การพิจารณาในการปล่อยชั่วคราวอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ประกอบกับเป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต มีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก จึงต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ต้องหารายใดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน การกล่าวอ้างว่าถูกกดดันขอให้ช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัว จึงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง พล.ต.ต.ปวีณฯ ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ประกันตัว นอกจากนี้ คดีนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ และช่วงนั้นไทยก็ถูกจับตาเรื่องการจัดระดับ Trafficking in Persons (TIP) Report ซึ่งตอนนั้นไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 ทำให้คดีนี้เป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อการจัดระดับฯ ซึ่งภายหลังคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ที่เจ้าหน้าที่ไทยขยายผลจับกุบผู้ต้องหาจำนวนมาก ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้การจัดระดับ TIP report ของไทยขยับดีขึ้นอยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง
ส่วนที่ระบุว่า พล.ต.ต.ปวีณ ถูกกดดัน คุกคามข่มขู่ นั้น รอง ผบ.ตร.ระบุว่า พล.ต.ต.ปวีณฯ เป็นเพียงหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งคดี ผู้ควบคุมกำกับดูแลในคดีนี้ คือ พล.ต.อ.เอกฯ ตามการมอบหมายของอัยการสูงสุด
สำหรับกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง รองผบ.ตร. ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจ เป็นอำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
สำหรับกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง รองผบ.ตร. ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจ เป็นอำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
“มาพูดโดยข้อมูลฝ่ายเดียว โดยไม่มีอะไรรองรับ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว แล้วทำไมต้องมาพูดในช่วงนี้ หวังผลประโยชน์อะไรที่ต้องการให้กระทบภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่ ทำให้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตั้งใจทำงานกันทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ตำรวจ อัยการ เราตั้งใจทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่มาถูกดิสเครดิตโดยคนคนเดียว มาพูดโดยไม่มีอะไรรองรับ แล้วมาเป็นประเด็น มันไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าตรงไหนยังไม่ทำ ก็บอกมา จะได้ไปทำ”พล.ต.อ.รอยฯ”กล่าว