เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2565 พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า พยาบาล (สบ 5) รพ.ตร. เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มงานพยาบาล
โรงพยาบาลตำรวจ ดำเนินงานติดตามผลการรักษาพยาบาลผู้ป่วยของทางโรงพยาบาลฯ ที่กลับไปรักษาตัวยังบ้านพัก โดยจัดให้มีหน่วยเยี่ยมบ้าน ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ หน่วยเยี่ยมบ้าน โรงพยาบาลตำรวจ ก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เยี่ยมบ้านประชาชน ข้าราชการตำรวจ และครอบครัวที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจาก โรงพยาบาลสู่บ้าน ในรูปแบบองค์รวม ครบทั้ง 4 มิติ ซึ่งได้แก่ “กาย จิต วิญญาณ สังคม” โดยการนำของ พ.ต.อ.หญิง ยุภาพร ชาตะมีนา พยาบาล (สบ 4) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งยึดหลักการทำงานตามค่านิยมขององค์กร ที่ว่า “ทำงานเป็นทีม บริการด้วยใจ ได้มาตรฐาน บนพื้นฐานธรรมาภิบาล” ทำงานด้วยความเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงทุกบ้านอย่างถ้วนหน้า แก้ไขปัญหาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทุกเรื่องของผู้ป่วยเราดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงาน ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย
ทุกสิทธิ รวมจำนวน 2,585 ราย จำแนกเป็น ข้าราชการตำรวจ 553 ราย ครอบครัวตำรวจ 604 ราย พี่น้องประชาชน 1,428 รายกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย, ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ต้องการการพึ่งพาจากผู้อื่น
ซึ่งทีมพยาบาลเยี่ยมบ้าน ซึ่ง ตนประกอบด้วย พ.ต.อ.หญิง ยุภาพร ขาตะมีนา, พ.ต.อ.หญิง ภิญญดา ถนอมกล่อม, พ.ต.ท.หญิง พัชนี พุ่มภักดี, พ.ต.ท.หญิง กาญจนาถ โทนวิรัต, พ.ต.ท.หญิง ภาริตา โพธิ์อ๊ะ, นส.มณีรัตน์ พรมวังขวา และ น.ส.ณัฐพร สังขะวรรณ ได้มีโอกาสลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ที่เป็นหญิงไทยวัยกลางคน อายุ 43 ปี น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม อาศัยในชุมชนแถวเอกมัย ไม่เคยตรวจสุขภาพ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระทั่งป่วยเป็น
โรคน้ำกัดเท้าที่เท้าขวา แต่กลับรักษาไม่หายสักที แผลเริ่มลุกลาม เนื้อแผลเปื่อยยุ่ย จนได้มารับการรักษายังโรงพยาบาลตำรวจ แต่เนื่องจากแผลอักเสบลุกลามรุนแรง ประกอบกับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คุมน้ำตาลไม่ได้ เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ แพทย์จึงต้องตัดขา ผู้ป่วยบริเวณใต้เข่าขวา หน่วยเยี่ยมบ้านได้เยี่ยมติดตามอาการผู้ป่วยตั้งแต่ยังคงพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และยังคงติดตามเยี่ยมบ้านหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในโอกาสเดียวกัน ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยรายนี้ นอกจากจะติดตามเรื่องการดูแลแผลผ่าตัด และการประสานงานเพื่อให้ผู้ป่วยได้ขึ้นทะเบียนสิทธิผู้พิการ เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ยังดูแลรวมไปถึงสภาพแวดล้อมของบ้านผู้ป่วยด้วย เนื่องจากบ้านผู้ป่วยอยู่ติดริมคลองแสนแสบ มีสภาพเสื่อมโทรม หลังคารั่ว มีน้ำท่วมขังใต้ถุนบ้านตลอดเวลา และน้ำท่วมสูงถึงที่นอนในยามฝนตก จนต้องอพยพออกมานอนบริเวณหน้าบ้านที่ติดถนนซึ่งอันตรายเพราะไม่มีรั้วรอบขอบชิด เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายในยามค่ำคืน (ผู้ป่วยหญิงมีลูกสาว1 และหลานสาว 1)
จึงประสานงานมายังคณะทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาทางช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้านให้ผู้ป่วยเพื่อให้เหมาะแก่การพักอาศัยต่อไป”พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล”กล่าว