วันที่ 27 เมษายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮินจา ว่า คดีค้ามนุษย์ เกิดเหตุตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 ที่ พล.ท.มนัส คงแป้น เป็นจำเลย ศาลได้ตัดสินไปแล้ว และ พล.ท.มนัสได้เสียชีวิตในเรือนจำ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบเรื่องนี้มาหลายครั้งตั้งแต่มีข่าวปลายปีที่แล้ว ผมขอเรียนอีกครั้งว่าขอให้ดูภาพรวมการดำเนินคดีว่ามีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีและฟ้องศาลไป 116 ราย จะเห็นว่าไม่มีใครที่หลุดรอดไปจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ คดีนี้ไม่ใช่แค่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สำนักงานอัยการสูงสุดโดยหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน และตำรวจเป็นผู้ร่วมภายใต้คำสั่งของพนักงานอัยการเพราะเป็นคดีนอกราช จึงอยากให้ดูว่าไม่มีใครหลุดรอดไปจากการดำเนินคดี ส่วนที่สองคือมีบางส่วนที่ยังไม่ถูกจับกุมมา เท่าที่ตรวจสอบออกหมายจับไว้ 155 หมาย เสียชีวิตไป 2 ราย เหลือ 153 หมาย ถึงวันนี้จับไปแล้วคงเหลือ 30 หมาย ก็เร่งรัดอยู่ ใครที่หลบหนีพยายามจับกุมมาดำเนินคดีให้ได้หมด บางรายที่ฟ้องไป 116 ราย ส่วนใหญ่ศาลสั่งลงโทษ บางรายถูกตัดสิน 1,600 กว่าปี
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบบุคคลที่มีชื่อเสียง (Big Name) ทั้งหลายก็ไม่มีแล้ว ก็โดนทุกคน ถ้ามีอะไรที่มากไปกว่านี้ก็ยินดี แต่ตรวจสอบไปหลายรอบแล้ว จึงอยากให้ทำความเข้าใจว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย เพราะช่วงนี้โดยส่วนตัวเป็นห่วงภาพลักษณ์ประเทศ เพราะเป็นช่วงที่มีการทำเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบกระเทือนแค่ไหน จึงอยากให้ช่วยเสนอในแง่มุมทางนี้ด้วย เพราะการที่กล่าวหากันไปกันมาเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคล ท่านสามารถใช้สิทธิได้ แต่เราเป็นเจ้าหน้าที่ก็ดูในภาพรวมว่ามีใครไหมที่หลุดรอดไปจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งไม่มี ผมชี้แจงไปหลายครั้งแล้วก็น่าจะพอเพียง
หลังจากนั้น ผบ.ตร.ได้เดินมาพูดคุยกับสื่อมวลชน ซึ่งมีแนวคิดจัดสัมมนาระหว่างสื่อมวลชน ผู้ทำคอนเทนต์เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ และประชาชนที่สนใจ มาดูวิธีการทำงานในการรวบรวมพยานหลักฐานทำกันอย่างไร จากนั้นสื่อมวลชนได้สอบถามถึงกรณีที่มีบุคคลทำให้ภาพลักษณ์เสียหายทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายต้องพิจารณาว่าถ้าคนทำให้เกิดความเสียหายในรูปคดีหรือไม่ ทีมสอบสวนจะต้องพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวจำเป็นจะต้องไปทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ หากเป็นการทำลายหลักฐานประจักษ์พยาน หรือทำให้พนักงานสอบสวนเสียหายก็ต้องว่ากัน ตามหลักการเป็นแบบนั้น ส่วนรายละเอียดก็ต้องพิจารณาว่าใครเข้าเงื่อนไขนี้บ้าง ส่วนการวิพากษ์โดยบริสุทธิ์ใจเป็นสิทธิสามารถทำได้
ถามต่อว่ามีบางส่วนที่ยังไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้ของสังคม เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนส่วนหนึ่งไม่เชื่ออาจเป็นเพราะเราทำตัวไม่น่าเชื่อถือหรืออะไรก็ตามแต่เราต้องหาวิธีแก้ ผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่ได้แสดงให้เห็นว่าระบบที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร เราอยู่กับระบบยุติธรรมและเราไม่เชื่อในระบบที่เรามีประเทศก็เดินไม่ได้ ส่วนจะผิดจะถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราจะต้องพิจารณาก่อนว่าระบบเป็นอย่างไร
ถามต่อว่าเป็นการดิสเครดิตตำรวจและรัฐบาลหรือไม่เพราะอยู่ในช่วงการจัดอันดับการค้ามนุษย์ (Tip Report) พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องดิสเครดิตอาจเป็นเจตนาพิเศษ แต่ไม่อยากไปตรงนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาก็จะมีคนหยิบประเด็นไปอาจเป็นประโยชน์ทางตรง ทางอ้อมเป็นธรรมชาติของสังคมเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามเราต้องดูภาพรวมก่อน เขาเชื่อถือตำรวจแค่ไหน หากชาวบ้านไม่เชื่อถือ เราทำงานไม่ได้ ซึ่งจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจกัน ส่วนคดีแตงโมเมื่อวานนี้ทางพนักงานสอบสวนก็ได้ชี้แจงไปเท่าที่เขาชี้แจงได้ เขาพยามหยิบอันนู้นอันนี้มา แต่คนก็ไม่เชื่ออยู่ดี คนถ้าไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ แต่ผมยังเชื่อว่ามีคนที่เชื่อ จริงๆ แล้วเราพยายามทำตามกติกาตามหลักการ หากมีโอกาสจะแสดงให้เห็นว่าระบบของการสืบสวนสอบสวนทำอย่างไร พยายามจะเปิดการอบรมสัมมนา
ถามต่อว่าคดีโรฮินจา มีการนำเสนอของสื่อต่างประเทศด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องทำการอธิบายประชาสัมพันธ์ไป ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ทำไปแล้ว เช่นเดียวกันกับกระทรวงกลาโหมก็ได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ผมอยากให้ดูระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้วคนก็ถูกดำเนินคดีไปเกือบทั้งหมดแล้ว มีบางรายที่ศาลไม่ลงโทษด้วยเหตุผลของกฎหมาย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่ตั้งใจทำไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนเรื่องการเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีเหตุผลหนุนหลังพิเศษ สมมติเป็นเรื่องการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถามต่อว่าหากเป็นเหตุผลทางการเมืองจากกล่าวโทษลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน จะดำเนินคดีอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า จะต้องไปพิจารณาว่าเข้าข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะการกระทำบางทีแบบนี้ก็ก้ำกึ่ง แต่ขอให้เป็นวิจารณญาณของประชาชน
ถามอีกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดต่อพูดคุยกับพล.ต.ต.ปวีณบ้างหรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่มี ในชั้นต้นได้สำรวจตรวจสอบแล้วว่ามีอะไรที่ควรทำแล้วยังไม่ได้ทำมีไหม มีใครที่ยังรอดจากกระบวนการสืบสวนสอบสวนบ้างไหม เพราะเห็นท่านบอกว่ายังมีอีกที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เราก็พยายามหาอยู่ ก็ยังไม่เจอ
ถามอีกว่ามีการพูดชื่อพาดพิงไปถึงนายก รองนายก และผบทบ. พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า อันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านพูด และเป็นการคุยกันระหว่างตัวบุคคล ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร สมมติเป็นอย่างที่ว่าจริงมีการช่วยเหลือกันจริงผลก็ต้องไม่ออกมาแบบนี้ และทางพล.ท.มนัส ก็เสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ หากมีการช่วยกันจริงมันไม่ใช่แบบนี้ อีกอย่างหนึ่งหากมีการช่วยกันจริง ตนถามว่าจะช่วยได้หรือ คนๆ เดียวทำได้หรือไม่ คดีนี้พนักงานสอบสวนมีเป็นร้อยคน คนหนึ่งจะสามารถไปสั่งทั้งขบวนการ สมมติหากช่วยกันคุณไปสั่งอย่างโน่นอย่างนี้สั่งได้หรือไม่ และตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบหลักหรือไม่ก็ไม่ใช่ เอาตรรกะมาคุยกันดีกว่า เป็นการอ้างอิงการพูดคุยของคนสองคนไม่ได้ ผมจึงอยากให้ดูผลลัพธ์
ขณะเดียวกันยังมีรายงานว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีคำสั่งด่วนถึงพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(ปป) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) ตรวจสอบกรณี พล.ต.ต.ปวีณ พงศสิรินทร์ อดีต รอง ผบช.ภ.8 และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการนำเสนอประเด็นที่ปรากฏเนื้อหาในลักษณกระทบกับภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ในรายการ “101 East สำนักข่าวอัลจาซีร่า ได้เผยแพร่สารคดีชื่อ “Thailand’s Fearless Cop” ทางช่องยูทูป สัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ และหนังสือ ฝอ.ศพดส.ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0057/918 ลง 24 เม.ย.65 ตรวจสอบความคืบหน้าสถานภาพการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง จากกรณี พล.ต.ต.ปวีณ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว Al Jazeera เปิดเผยข้อมูลขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงการดำเนิน คดีอาญาที่ 148/2558 ของ สภ.ปาดังเบซาร์ นั้น เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีลักษณะที่อาจส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตลอดทั้งเป็นการเกี่ยวโยงกับคดีที่มีความสำคัญ
“ให้รอง ผบ.ตร.(ปป)และผอ.ศพดส.ตร.ควบคุมกำกับดูแล การปฏิบัติ และเร่งรัดติดตามการดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่มีการออกหมายจับ ตามหนังสือ ฝอ.ศพดส.ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0057/918 ลงวันที่ 24 เม.ย.2565 ตรวจสอบและรวบรวมความคืบหน้าทางคดีดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน”หนังสือคำสั่ง ระบุ
//////////////////////////////