ปชช.ร้องถึงรองผู้ว่าฯอยุธยา เคลียร์ปัญหาด้านหน้า-ท้าย ประตูน้ำปากคลองบางบาล
มีรายงานว่า เวลา 13.30 น. ไพรัตน์ เพชรญวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสมทรง พันธุ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ไปที่ ปตร.ปากคลองบางบาล อ.บางบาล จ.อยุธยาฯ หลังน้ำด้านหน้าบ่าออกข้าง และท้าย ปตร. ลงที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำไหลอย่างกับน้ำตกกัดเซาะตลิ่งหน้าบ้านชาวบ้านที่ถูกน้ำบ่าลงมาเมื่อคืนนี้ และมีบ้านชาวบ้านถูกน้ำท่วมแบบฉับพลัน
รองผู้ว่าฯอยุธยา สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่า ตั้งแต่น้ำหลาก ปตร.ปากคลองบางบาล ยกบานระบายน้ำ 20 ซม. ในขณะที่อัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีการปรับการระบายให้สอดคล้อง เพราะผู้รับผิดชอบ บอกว่า ด้านหลัง ปตร.ผ่านคลองบางบาล จะมีชุมชน และสถานที่ราชการอำเภอบางบาลตั้งอยู่ จึงเกรงว่า หากระบายน้ำออกไปจะทำให้เกิดน้ำท่วม
ชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล บอกว่า ที่ต้องโวยเพราะชาวบ้านด้านข้างและท้าย ปตร.ที่ถูกน้ำท่วมเดือดร้อน ตั้งแต่น้ำท่วมปีนี้ เปิดระบายน้ำแค่ 20 ซม. จนน้ำล้นบ่าออกที่ลุ่มต่ำ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้เห็นด้วยบริหารจัดการแบบนี้ เพราะมันสร้างความเสียหายมากกว่าปกติ
“ เราแจ้งให้ผู้รับผิดชอบเพิ่มการระบายน้ำตามท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้คนริมน้ำหน้าประตูเดือดร้อนไปมาก เช่น น้ำมาก็ยกบายระบายให้น้ำผ่านไป แต่หากจะท่วมด้านท้าย ก็ให้หรี่บานระบายน้ำ หรือลดบานระบายน้ำลง ก็ได้ เพราะทุกคนเข้าใจ แต่นี่เปิดอยู่ 20 ซม. ก็อยู่แค่นั้นตลอด พอเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ ปตร.บางบาล ไม่ปรับเพิ่มระบายน้ำออกด้านท้าย น้ำไม่มีทางไปมันอั้น มันก็หาทางออกด้านข้างไปได้ “ ชูเกียรติ กล่าว
นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล บอกว่า คนบางบาลไม่ได้โวยวายเรื่องน้ำท่วม เพราะอยู่กับน้ำ และรู้ว่าไม่มีใครแกล้ง แต่ที่ผ่านมาแจ้งขอให้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำออกด้านท้ายบ้าง แต่ผู้รับผิดชอบอ้างว่า ต้องรอผู้ใหญ่สั่ง ก็เลยไม่รู้ว่า ปตร.นี้ สร้างมาทำไม คนพื้นที่เดือดร้อน แต่ต้องรอคนนอกพื้นที่สั่งการ ซึ่งมันผิดหลัก เครื่องมือที่รัฐลงทุนไป แทนที่จะใช้ให้คุ้มค่า แต่กำลังจะกลายเป็นตัวที่สร้างความขัดแย้งให้คนหน้าประตูน้ำ และคนในชุมชนท้ายประตูน้ำแล้ว
สำหรับ ปตร.บางบาล ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานเมื่อปี 2564 โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน กั้นปากคลองบางบาล ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองโผงเผง ปลายคลองบรรจบกับแม่น้ำน้อยหน้าวัดสีกุก อ.บางบาล
ก่อนก่อสร้างประตูระบายน้ำ น้ำจะไหลผ่านคลองบางบาลตามระดับที่มีการปล่อยท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จุดที่กังวลน้ำล้นกันคือ หน้าอำเภอบางบาล แต่จะมีการทำคันดินล้อมริมถนนหน้าอำเภอ ไว้ทุกครั้ง สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา