พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน มอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
วันนี้ (26 สิงหาคม 2565 ) เวลา 08.30 น.ที่ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ไปประชุมและติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวีระชัย นาคมาศ (นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย พล.ต.คณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการทหารบกที่ 18 และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ ทั้งนี้ องคมนตรี อัญเชิญพระบรมราโชบายในการป้องกันและแก้ไขการเกิดภัยธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวในที่ประชุมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 2,101 ถุง ไปมอบแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั้ง 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเสนา จำนวน 800 ถุง อำเภอบางบาล จำนวน 650 ถุง อำเภอผักไห่ จำนวน 251 ถุง และอำเภอบางไทร จำนวน 400 ถุง ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบางบาล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง
ในโอกาสนี้ องคมนตรี เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ตัวแทนราษฎรที่ประสบภัย และครอบครัวผู้ประสบภัยและที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ จากนั้น องคมนตรี ลงพื้นที่เชิญสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ครอบครัวผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จำนวน 3 ครอบครัว ตลอดจนพูดคุยให้กำลังใจ ราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ ได้รับพระมหากรุณาในครั้งนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุดวันนี้ (26 สิงหาคม 2565 เวลา 06.00 น.) มีปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไหลผ่าน สถานี C13 จ.ชัยนาท ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 ลบ.ม/วินาที จากเมื่อวาน 1,464 ลบ.ม/วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 36 ลบ.ม/วิ ระดับน้ำที่ C35 บ้านป้อม พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 4.35 ม. ระดับน้ำ 3.82 ม. จากเมื่อวาน 3.79 ม ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3 ซม. ในส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลผ่านสถานี S.28 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 379 ลบ.ม/วินาที จากเมื่อวาน 395 ลบ.ม/วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลง 16 ลบ.ม/วิ ระดับน้ำที่ สถานี S.26 อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 8 ม. ระดับน้ำ 5.54 ม. จากเมื่อวาน 5.45 ม. ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 9 ซม.
ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ทั้งสิ้น 16 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน และพื้นที่การเกษตร จำนวน 7 อำเภอ 75 ตำบล 329 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 10,032 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,793 ไร่ ดังนี้ อำเภอเสนา รวม 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 2,672 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 43 ไร่ อำเภอผักไห่ รวม 11 ตำบล 54 หมู่บ้าน 1,479 ครัวเรือน อำเภอบางบาล รวม 12 ตำบล 62 หมู่บ้าน 1,993 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 804 ไร่ อำเภอบางไทร รวม 19 ตำบล 66 หมู่บ้าน 1,417 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1,946 ไร่ อำเภอบางปะหัน รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน 101 ครัวเรือน อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 12 ตำบล 38 หมู่บ้าน 1 ชุมชน 806 ครัว และอำเภอบางปะอิน รวม 12 ตำบล 56 หมู่บ้าน 1,564 ครัวเรือน
สำหรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งดังกล่าว ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบบางพื้นที่แล้ว เนื่องจากน้ำมีปริมาณที่สูงขึ้น และเริ่มเอ่อล้นท่วมถนนภายในหมู่บ้านบางพื้นที่ แต่ก็ยังสัญจรไป - มาได้ ประชาชนยังดำเนินวิถีชีวิตของบ้านริมแม่น้ำ ใต้ถุนสูง มีเรือทุกบ้าน พร้อมมีไม้กระดานวางเพื่อเดินเข้าบ้าน โดยทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบ และเฝ้าระวัง พื้นที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตพระราชฐาน โบราณสถาน และวัดที่สำคัญ พื้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ และพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง นอกจากนี้ ได้ตั้งวอร์รูมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ หากประชาชนได้รับผลกระทบสามารถขอรับความช่วยเหลือ โทรสายด่วน 1784 รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ จังหวัดฯ ได้มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือโดยประสานศูนย์ป้องและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี มาสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 8 เครื่อง อัตราการสูบ 28,000 ลิตร/นาที เรือท้องแบนพร้อมเครื่อง 8 ลำ และรถยนต์ขนย้ายผู้ประสบภัย 2 คัน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร รวมทั้งได้ส่งมอบถุงยังชีพแล้ว จำนวน 3,147 ถุง
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา