ปอศ.ทลายแก๊งข้ามชาติ เปิดแอพกู้เงินออนไลน์เถื่อน ลวงกินค่าธรรมเนียม พบเดือนเดียวเงินหมุนเวียนกว่า 400 ล้าน
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.
สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. นำกำลังร่วมกับตำรวจกองปราบปราม , ตำรวจน้ำ ,ตชด., และฉก.ทหารม้าที่ 3 กว่า 60 นาย “ปฏิบัติการ ทลาย แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งข้อความหลอกลวงกู้เงิน ” เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 6 จุด ในพื้นที่ จ.เชียงราย ,ปทุมธานี ,สมุทรสาคร ,มุกดาหาร และระยอง
สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายพงศา อายุ 25 ปี, นายสุวิทย์ อายุ 28 ปี, นายอากุ๋ย อายุ 41 ปี และ น.ส.นวมน อายุ 34 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1681, 1688, 1686 และ 1693/2565 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2565 ข้อหา ร่วมกันประกอบสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม,ร่วมกันอั้งยี่ซ่องโจร, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป” พร้อมตรวจยึดของกลางสมุดบัญชี 10 เล่ม, โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม และบัตร ATM 3 เล่ม พร้อมกับ เข้าแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาในเรือนจำที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว อีก 6 ราย คือนายสมชาย อายุ 26 ปี, นายธีรวุฒิ อายุ 26 ปี, น.ส.ทิพย์นภา อายุ 36 ปี, นายอาเป้า อายุ 39 ปี, นายศิริชัย อายุ 42 ปี และนายสมัดร์ชา อายุ 42 ปี
สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2564 ได้มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับทาง บก.ปอศ. หลังก่อนหน้าได้ติดต่อกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน บีบาท (BeeBaht) และแอปพลิเคชัน DD Cash เพราะเห็นว่ามีการแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกํากับของสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อผู้เสียหายติดต่อไปแล้วกลับถูกหลอกเอาเงินค่าดำเนินการอ้างเป็นค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ทาง พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบ.ตร.ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ผอ.ศปน.ตร.) จึงสั่งการให้ บช.ก.ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบพบมีการกระทำความผิดจริง รวมถึงใบอนุญาตที่กลุ่มคนร้ายนำมาใช้แอบอ้างนั้นก็เป็นของปลอมที่ทำขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยพฤติกรรมของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จะเริ่มจากการส่งข้อความโฆษณาเชิญชวนกู้ยืมเงิน และ ลิงค์เข้าแอปพลิเคชัน ไปตามเพจ หรือ กลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ เมื่อมีผู้หลงเชื่อ หรือ ประชาชนที่กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินพบเห็นหรือให้ความสนใจติดต่อขอกู้เงิน มิจฉาชีพกลุ่มน้ีก็จะออกอุบายเรียกเก็บเงินค้ำประกัน ค่าเอกสาร ค่าธรรมเนียมต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่จะขอกู้ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้กลับไม่ได้รับเงินกู้จากแอพดังกล่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่า มีการทำกันเป็นขบวนการ มีการยักย้ายถ่ายเทเงินเป็นทอดๆ รวมถึงแปรเปลี่ยนเงินที่ได้เป็นสินค้าอุปโภค บริโภค, รถไถนา, ทองคําแท่ง โดยซื้อจากประเทศไทย ก่อนจะนําส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบว่าช่วงระยะเวลาแค่ 1 เดือน มีเงินหมุนเวียนเข้าระบบกว่า 400 ล้านบาท จึงเร่งรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 16 คน จนนำมาสู่การเปิดปฏิบัติการดังกล่าว
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การภาคเสธ อ้างว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเงินเหยื่อ แต่ยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างจากนายทุนคนหนึ่งให้เปิดบัญชีธนาคารให้ โดยไม่ทราบว่าจะถูกนำไปใช้ทำอะไร เบื้องต้นจึงนำตัวส่ง กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป