ปทส.ร่วมปศุสัตว์ เปิดปฎิบัติการ ล่า! “หมูเถื่อน” ยึดซาก 1.8 ตัน วันที่ 22 เม.ย.68 พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. สั่งการ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา รอง ผบก.ปทส. พ.ต.อ.สมบัติ มาลัย รรท. ผกก.1 บก.ปทส. พ.ต.ท.กษิดิ์เดช เจริญลาภ รอง ผกก.1 บก.ปทส. พ.ต.ท.ธานุพันธ์ สุระสะ, พ.ต.ท.ไพรวรรณ ตั้นหลก , พ.ต.ต.วัชระ บุดดีคำ สว.กก.1 บก.ปทส. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ นำกำลังจับกุม นายธนะพล (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี พร้อมของกลางซากสุกร จำนวน 1,800 กิโลกรัม ได้ที่โรงชำแหละซากสุกรไม่มีชื่อ แขวงและเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการร้องเรียนว่าโรงชำแหละสุกรไม่มีชื่อย่านบางซื่อ ได้ลักลอบนำเนื้อและชิ้นส่วนสุกรมาจากพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ทราบแหล่งที่มา ซึ่งการขนย้ายไม่ถูกสุขอนามัย อาจทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และประกอบกิจการที่ไม่ถูกสุขอนามัย ในพื้นที่ใกล้เคียง ส่งกลิ่นเหม็นเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ พบนายธนะพล แสดงตัวเป็นเจ้าของ จากการตวจสอบพบว่ามีซากสุกรบางส่วน วางบนพื้นทางเดินโดยไม่มีภาชนะหรือสิ่งใด ๆ ปกคลุม ซึ่งซากสุกรทั้งหมดที่พบมีจำนวน 7,500 กิโลกรัม ซึ่งซากที่มีเอกสารถูกต้องมีเพียง 5,700 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนอีก 1,800 กิโลกรัม ไม่ทราบแหล่งที่มา และไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้ จึงแจ้งข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. โรคระบาดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำเขต เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานครประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 65 จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ ทำการอายัดซากสุกร จำนวน 1,800 กิโลกรัม ไว้ที่ห้องเย็น พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างนำตรวจหาเชื้อโรคระบาด ก่อนนำตัวผู้ต้องหา ส่ง พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปทส. ดำเนินคดี ต่อไป พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวว่า การจับกุมโรงเชือดสุกรดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่มีการตรวจสอบใด ๆ ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคสูง อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดที่สำคัญ หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนของกลางที่เป็นซากสัตว์ทางกรมปศุสัตว์จะทำลายโดยการฝังหรือเผาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป