DSI คุมตัว 3 นอมินีคนไทยฝากขังศาลอาญา เจ้าตังยังปากแข็งปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ดีเอสไอ คุมตัว “โสภณ-ประจวบ-มานัส” 3 นอมินีคนไทย บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ฝากขังศาลอาญา ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนอาชีพทั้ง 3 คน มีทั้งรับจ้าง-ค้าขาย รายได้ไม่สูงนัก เฉลี่ยหลักหมื่นบาทต่อเดือน
วันนี้ (22 เม.ย.) เวลา 10.20 น. หน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ควบคุมตัว นายโสภณ มีชัย , นายประจวบ ศิริเขตร และ นายมานัส ศรีอนันท์ ผู้ต้องหา 3 คนไทยนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 โดยสื่อมวลชนพยายามสอบถามการเข้าถือหุ้นบริษัทดังกล่าว แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด ก่อนนำตัวส่งยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญารัชดาภิเษกผัดแรก โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 รายไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน รวมถึงท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้มีการคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ามามอบตัวด้วยตนเอง
ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผลการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ว่า พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในภาพรวมมี 1 คนให้การ คือ นายโสภณ และอีก 2 ราย คือ ประจวบ กับ นายมานัส ขอชี้แจงเป็นหนังสือเพิ่มเติมและไม่ได้ให้การอะไร โดยการชี้แจงเป็นหนังสือไม่ได้มีผลต่อรูปคดีเพราะตามกฎหมายจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่ทุกอย่างที่ให้การจะนำมาพิสูจน์ทั้งหมด โดยประเด็นจะเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและผู้ถือหุ้น รวมทั้ง เงินที่มาของการลงทุน และอำนาจในการบริหารงาน
ส่วนข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้การกับข้อมูลของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่มีตรงกันหรือไม่ พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า บางส่วนยังไม่ค่อยตรงกันในส่วนของแหล่งเงิน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับกรรมการถือหุ้นชาวจีนนั้น มีการให้ข้อเท็จจริงว่าทั้ง 3 คนไทยได้รู้จักกัน โดยมีผู้ต้องหาบางราย คือ นายประจวบ กับ นายมานัส เคยทำงานในบริษัทที่มีกรรมการชาวจีนเกี่ยวข้องอยู่ และไม่ได้เริ่มงานกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แต่เริ่มต้นมาจากทำงานกับบริษัทอื่นก่อน หากจำไม่ผิด คือ บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นคำให้การของผู้ต้องหาและสุดท้ายต้องนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง ส่วน นายโสภณ ถูกชักชวนจาก 2 คนไทยดังกล่าว
“ก่อนหน้านี้ทำไมไม่เข้าพบจนกระทั่งถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนได้มีการซักถามเช่นกัน แต่ทุกคนไม่ยอมตอบ และอ้างว่าพอเห็นข่าวถูกออกหมายจับจึงเข้าพบพนักงานสอบสวน รวมถึงทั้ง 3 คนไทยอยู่ด้วยกันหรือไม่ ทุกคนไม่ได้ให้ข้อมูลในส่วนนี้”
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า สำหรับการประกอบอาชีพของแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่ทุกคนประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงนัก เฉลี่ยหลักหมื่นบาท มีทั้งในเรื่องของการค้าขาย อาชีพรับจ้าง โดยคำให้การจะระบุแต่ละคนทำอาชีพอะไรแต่เป็นเรื่องในสำนวน ขอยังไม่เปิดเผย ส่วนเรื่องหุ้นของนายโสภณ ได้ให้การเพียงรายเดียว และมีทนายความช่วยอธิบายในบางคำถาม เพราะอาจไม่เข้าใจในรายละเอียด แต่ตัวของผู้ต้องหาตอบเอง ส่วนอีก 2 รายขอให้การเป็นหนังสือ ภายใน 30 วัน
“เรื่องการถือครองหุ้น 3 คนไทยตามสัดส่วนแต่ละบุคคลนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ปี 61-68 มีการสลับเพิ่มขึ้นลดลง ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ในส่วนเรื่องเส้นทางการเงินกำลังตรวจสอบอยู่ พบว่ามีเงิน 2 ส่วนเกี่ยวข้องบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คือ 1.เป็นเงินหุ้น คนจีนถือแทนบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนีลิมิเต็ด จำกัด (49%) โอนเข้ามาในนามบริษัท ส่วนหุ้นคนไทย (51%) กำลังหาที่มาของแหล่งเงิน และ 2.เป็นเงินที่กู้ยืมมาทำธุรกิจ ซึ่งกำลังไล่ย้อนเส้นทางการเงินอยู่ อย่างไรก็ตาม จากเงินในบัญชีของคนไทยแต่ละคนก็พบว่ามีไม่ได้เยอะมาก บางคนมีเพียงหลักหมื่นบาท” พ.ต.ต.วรณัน กล่าว