สังคมส่ายหน้า!! คุมประพฤติ “เมาขับ” 7 วันสงกรานต์ 6,100 คดี
กรมคุมประพฤติสรุป 7 วัน สงกรานต์ 6,405 คดี ลดลงจากปีที่แล้ว 12.63% “เมาขับ” ยอดสูงปรี๊ด!! 6,100 คดี กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมาขับสูงสุด 406 คดี
วันนี้ (18 เมษายน 2568) พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสรุปยอดคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติในช่วง “7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2568” (17 เมษายน 2568) โดยมีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,177 คดี แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 1,095 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 12 ราย ขับรถประมาท 3 คดี และคดีขับเสพ 79 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 3 ราย
ยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เมษายน 2568) มีจำนวนทั้งสิ้น 6,405 คดี ลดลงจากปี 2567 (7,388 คดี) คิดเป็น 12.63% แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.27 ขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 และขับเสพ 297 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.64
จังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 406 คดี สมุทรปราการ จำนวน 351 คดี และเชียงใหม่ จำนวน 302 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 7,131 คดี กับ ปี พ.ศ. 2568 จำนวน 6,100 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,031 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.46
ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้นมีจำนวน 15 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ราย ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC) พร้อมกำชับสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ ลงพื้นที่ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร
สำหรับในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มข้น สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 307 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ ผู้ถูกคุมความประพฤติ ภาคีเครือข่าย และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 6,311 คน และกิจกรรมร่วมสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบเรียลไทม์ โดยสำนักงานคุมประพฤติ 28 แห่ง ได้นำผู้ถูกคุมประพฤติเข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวน 165 ราย
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมาตรการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล รวมทั้งพาทัวร์ห้องดับจิต เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและตระหนักถึงความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กรมคุมประพฤติจะรายงานกลับไปยังศาล เพื่อนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบังคับใช้ต่อไป