เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วยนายชัยยุทธ มังศรี รอง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4. บก.ปอศ.
ร่วมแถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหา
นำผลตรวจโรคโควิด–19 ปลอม มายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย 11 ราย และตัวแทนบริษัทประกันชีวิตหลอกลวงเก็บเบี้ยประกันไว้ ไม่นำเงินส่งบริษัทฯโดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง 3 ราย
พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด–19 ตั้งแต่ปลายปี 62 ทางตำรวจปอศ.และคปภ.ได้ร่วมกันตรวจสอบพบกลุ่มคนที่ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยต่างๆ ในประเทศไทย ฉวยโอกาสใช้ช่องว่างของขั้นตอนการรับเงินประกัน นำผลตรวจโรคโควิด–19 ปลอม มายื่นเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย 21 ราย ได้เงินไปรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งทางปอศ.ได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับและติดตามจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 11 รายในข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารปลอม, เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง” และกำลังขยายผลติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือ และอาจขออนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องที่เป็นคนในคอยทำหน้าที่ติดต่อชักชวนผู้ต้องหากระทำความผิด เพราะทราบว่าได้ส่วนแบ่งไปรายละ 2 หมื่นบาท ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้ประมาณกว่า 1 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตำรวจปอศ.ยังได้จับกุมตัวแทนขายบริษัทประกันชีวิต 3 ราย หลอกลวงเก็บเบี้ยประกันไว้ ไม่นำเงินส่งบริษัท โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ โดยแจ้งข้อหา “โดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิมและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม” ซึ่งกรณีนี้มีเสียผู้เสียหาย11ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 52ล้านบาท
นายชัยยุทธ กล่าวว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประกันชีวิตไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิต ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบประกันภัยที่ต้องสูญเสียเงินไปกับกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมาก อีกทั้งยังทำให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 จริง ได้รับค่าสินไหมล่าช้า หรือไม่ได้รับค่าสินไหม เนื่องจากบริษัทประกันขาดสภาพคล่อง และที่สำคัญยังเป็นผลทำให้ประชาชนต้องซื้อประกันต่างในราคาสูงขึ้น เพราะต้องนำเบี้ยประกันมาเฉลี่ยเป็นค่าสินไหมให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางคปภ.และบช.ก.จะได้ขยายผลการทำงานร่วมกันต่อไป