สลดพบซากช้างป่าเขาใหญ่ตายเพิ่มอีก 1ตัว รวมเป็น2ตัวบนน้ำตกเหวนรกชั้นที่ 1
วันนี้ 28 ก.ค.65 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ความคืบหน้าจากที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก (ในพื้นที่รอยต่อ 4 จังหวัด จ.ปราจีนบุรี,จ.นครนายก,จ.นครราชสีมา และ จ.สระบุรี) พบช้างป่าอายุราว 3-5 ปี ตายขึ้นอืดจำนวน 1 ตัว คาดว่าพลัดตกลงมาจากน้ำตกเหวนรก หลังจากเกิดพายุและฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ จนเกิดน้ำป่าขึ้น ซึ่งน้ำตกเหวนรกมีปริมาณน้ำมากและกระแสน้ำรุนแรง คาดว่าช้างป่าตัวนี้ คงมากับฝูงขณะมีน้ำป่าเกิดอุบัติเหตุ ได้ลื่นพลัดตกคลองในป่าเหนือบริเวณน้ำตก ช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วถูกน้ำป่าพัดไหลลงมาตกน้ำตก คงไม่ใช่ตกที่น้ำตกอย่างที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ในช่วงนี้พบว่ายังมีน้ำไหลเชี่ยวรุนแรง ยังไม่สามารถเก็บกู้ซากช้างขึ้นมาได้ เนื่องจากเป็นอันตรายแก่เจ้าหน้าที่ ตามที่เสนอผ่านสื่อมวลชน นั้น
เวลา16.30 น.ผู้สื่อข่าวได้ประสานกับนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทางโทรศัพท์ เปิดเผยว่า ล่าสุดที่บริเวณน้ำตกเหวนรก บริเวณชั้นที่ 1ในจุดเดียวกันกับพบซากช้างป่าตาย ได้พบมีซากช้างป่าที่เพิ่งขึ้นอืดขึ้นมาอีก 1 ตัว รวมเป็นซากช้างป่าตาย 2 ตัว โดยทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการลงบันทึกประจำวันเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและลงแจ้งความประจำวันในที่สถานีตำรวจในเขตที่รับผิดชอบต่อไป
เปิดประวัติ ช้างป่าเขาใหญ่ ตกหน้าผาเหวนรกตาย!! 33 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ตาย 26 ตัว
จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ช้างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พลัดตกลงไปในน้ำตกเหวนรก ตายไปถึง 11 ตัว สร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม “โศกนาฏกรรม” การพลัดตกเหวของช้างป่าเขาใหญ่ในช่วง 33 ปี ที่ผ่านมา ดังนี้
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2529 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมอย่างคาดไม่ถึง เมื่อมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งได้มาแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้พบศพช้าง 1 ตัว นอนตายอยู่ที่น้ำตกเหวนรก ทันทีที่ได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งได้รุดไปยังที่เกิดเหตุทันที พบช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายติดโขดหินแช่น้ำอยู่ บริเวณน้ำตกเหวนรก ระหว่างชั้นแรกกับชั้นที่ 2 ดูสภาพซากช้างที่ตาย คาดว่าเป็นช้างพลายตัวนี้ ตกจากด้านบนของน้ำตกซึ่งมีความสูงประมาณกว่า 60 เมตร อาจตกลงมากระทบกับผาหินหรือด้วยแรงกดของกระแสน้ำ ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้ช้างบาดเจ็บหรือช็อก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และจมน้ำตายในที่สุด คาดว่าคงจะจมน้ำตายมาได้ประมาณ 4-5 วันก่อนหน้าที่จะมีใครเจอ ซากจึงอืดและลอยขึ้นมาติดกับโขดหิน ดูตามลำตัวไม่พบบาดแผลที่แสดงว่าถูกทำร้ายหรือลักลอบล่าแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่จึงทำการถอดเอางาของช้างตัวนี้ นำมาเก็บรักษาไว้ที่ทำการอุทยานฯ ต่อไป จากการสันนิษฐานของผู้ชำนาญในเรื่องช้างและร่องรอยของช้างด้านบนน้ำตก ได้ความว่าช้างเคราะห์ร้ายตัวนี้ ต้องเป็นช้างในโขลงช้าง ที่มาหากินอยู่บริเวณนั้น และช้างตัวนี้คงจะเดินลงมาลำคลองเพื่อกินน้ำและในระหว่างที่กำลังกินอยู่นั้น อาจมีช้างพลายอีกตัวมาแกล้ง โดยการใช้หัวชนก้นของช้างตัวนี้จนทำให้เสียหลักตกลงไปในลำคลอง ที่มีกระแสน้ำลึกและแรงมาก พัดพาช้างลอยไปตกหน้าผาก่อนที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ทัน
เดือนตุลาคม 2530 ก็มีช้างป่าตกเหวตายอีก 4 ตัว เป็นแม่ช้าง 2 ตัว ครั้งนั้น มีลูกช้างตกลงจากหน้าผายังไม่ตายทันที และได้พยายามที่จะกระเสือกระสนต่อสู้กับแรงกระแสน้ำหนีตายทั้งๆ ที่บาดเจ็บขาหักอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาถึง 2 วัน โดยไม่มีใครสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือดำเนินการ ในที่สุดกระแสน้ำก็พัดพาตกตายไป
ปี 2531 ก็ปรากฏว่ามีช้างป่าตกเขาตายอีก 2 ตัว ในบริเวณเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นข่าวเพราะช้างป่าตกมาจากตอนบนของน้ำตกชั้นที่หนึ่ง ซึ่งสูงกว่า 50 เมตร กระแสน้ำช่วงนี้แรงมาก พัดพาเอาซากช้างป่าดังกล่าวจมหายและตกลงไปถึงน้ำตกชั้นที่ 3 ที่ลึกลงไปกว่า 200 เมตร ไม่มีใครลงไปได้
วันที่ 2 สิงหาคม 2535 ประชาชนชาวไทยที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสัตว์ป่าต่างพากันเศร้าสลดใจกับเหตุการณ์ที่ครอบครัวช้างป่าแม่ลูก 8 ตัว ถูกกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากพัดพาร่างจมดิ่งหายไปในสายน้ำขณะเดินข้ามธารน้ำเหนือน้ำตกเหวนรก จนเสียชีวิตทั้งหมดอย่างน่าเวทนา
สาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าน่าจะเกิดจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่เขาใหญ่ จนเกิดน้ำป่าไหลหลากจากทุ่งงูเหลือมลงสู่คลองเหนือน้ำตกเหวนรกและกระแสน้ำจำนวนมากได้ไหลพัดพาช้างป่าที่กำลังข้ามน้ำจนลอยไปตกเหวตาย และในที่สุดหุบเขาน้ำตกเหวนรกแห่งนี้ก็กลายเป็นสุสานฝังร่างครอบครัวช้างป่าแม่ลูกอยู่คู่เขาใหญ่ตราบชั่วนิรันดร์
ต่อมาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้สร้างคอนกรีต เพื่อให้ช้างได้เดินข้ามห่างจากหน้าผาประมาณ 100 เมตร เพื่อป้องกันการตกหน้าผา ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีช้างป่าตกหน้าผาอีกเลย
เครดิตภาพ–อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่