ปอศ.บุกรวบสาวรับจ้างเป็นกรรมการบริษัทฯ นำเข้าอาหารที่เป็นสินค้าต้องกำกัด รัฐเสียหายกว่า 58 ล้านบาท กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.ชัชวาล ชูชัยเจริญ ผกก.2 บก.ปอศ. และ พ.ต.ท.วันเผด็จ จันยะรมณ์ รอง ผกก.2 บก.ปอศ. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.หญิง วณิชยา ไชยปรุง สว.กก.2 บก.ปอศ., ร.ต.อ.อภินันท์ พจน์มนต์ปิติ รอง สว.กก.2 บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กก.2 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม จับกุม น.ส.สุนิสาฯ อายุ 48 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 713/2567 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ในความผิดฐาน “ร่วมกันนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลการกรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำของนำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวข้องกับของนั้น และร่วมกันนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องได้รับอำนาจจากอธิบดี ” สถานที่จับกุม บริเวณถนนหน้าปากซอยเจือสงวน แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากกรมศุลกากร ได้มาร้องทุกข์ ที่ กก.2 บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญาความผิดกับ น.ส.สุนิสาฯ อายุ 48ปี ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง เนื่องจากว่าบริษัทฯ ได้แสดงใบขนสินค้านำเข้าเพียงแค่ ช็อกโกแลตชิป 1 กล่อง แต่ตรวจพบสินค้าเป็นกระเพาะปลา ตากแห้ง ที่มิได้แสดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและกระเพาะปลาตากแห้งจัดเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนการนำเข้าและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้สินค้ากระเพาะปลาตากแห้ง ยังเป็นของต้องกำกัดควบคุมการนำเข้าตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) บัญชี 1 ลำดับที่ 940 ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ผู้นำของเข้าจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กรมศุลกากร ได้พิจารณาแล้ว กรณีเป็นการนำของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูล ไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560, ประกอบพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31, พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อีกทั้งมูลค่าความเสียหายสูงถึง 58 ล้าน ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า น.ส.สุนิสาฯ ผู้ต้องหาจะมาปรากฏตัวในบริเวณที่จับกุม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจับกุมจึงได้เดินทางไปเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าแสดงตัวขอตรวจสอบดูและพบว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง จึงดำเนินการจับกุมบริเวณดังกล่าว และนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การว่า มีคนจ้างเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ให้เปิดบัญชีธนาคารและเซ็นเอกสารในการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว แต่รายละเอียดตนไม่ทราบ โดยหลังจากนี้ตำรวจจะสืบสวนและขยายผลไปยังบุคคลผู้ร่วมขบวนการต่อไป เตือนภัย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยฉ้อโกง หรือใช้กลอุบาย ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และฝากเตือนถึงประชาชน ห้ามขาย หรือ ให้บัตรประชาชนแก่ผู้อื่นโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ มิเช่นนั้นจะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว