รองอธิบดีกรมสังคมสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำคณะศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพุทไธศวรรย์ ชั้น 1 อาคาร 4 ชั้น ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ Mr. Kindavong Laugrath รองอธิบดีกรมสังคมสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะ ในการศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปในหัวข้อ “การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
และในช่วงบ่าย คณะจะลงพื้นที่เยี่ยมชมแผงบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ณวัดไชยวัฒนาราม และเดินทางไปองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ รับฟังบรรยายสรุปหัวข้อ “โครงการป้องกันและลดความเสี่ยงภัยโดยชุมชนเป็นฐาน” โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุป สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ด้วยศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ศปพอ.) ร่วมกับกรมสังคมสงเคราะห์กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กำหนดจัดการประชุมและศึกษาดูงาน ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2565 ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การบริหารจัดการข้อมูล การประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการนำระบบการบริหารจัดการสาธารณภัยและการประสานงานไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การบรรเทาสาธารณภัยในระดับต่าง ๆ อย่างบูรณาการ
โดยเลือกศึกษาดูงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน 4 สาย และองค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม และยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง จึงมีโอกาสเกิดภัยพิบัติได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งจากการขนส่ง และยังมีภัยธรรมชาติที่เกิดเป็นประจำคืออุทกภัย ซึ่งจังหวัดฯ ได้มีการเตรียมการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรการกุศล อาสาสมัคร มูลนิธิ และภาคประชาชน มีการจัดการลดความเสี่ยงโดยใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง มีการจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง พร้อมเตรียมความพร้อม ด้านเครื่องจักรกล และยานพาหนะในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา