เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่า พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติได้ข้อความผ่านโพสน์เฟสบุคที่ใช่ชื่อว่า พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน มีใจความระบุว่า
สิ้นสุดการรอคอยกับการปฏิรูปตำรวจ…….
5 กรกฎาคม 2565 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของตำรวจ เมื่อรัฐสภามีมติวาระสาม ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่.... พ.ศ. ...( 172 มาตรา) ขั้นตอนต่อไปใน 5 วัน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบตัวอักษร วรรค ตอน จากนั้นภายใน 20 วัน นายกรัฐมนตรี จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระวินิจฉัย ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ถัดจากวันประกาศ
วันนี้ ( 5 ก.ค. 2565) เชื่อว่าตำรวจทุกระดับ สายตามอง หูฟังเข้าไปในการประชุมรัฐสภากันโดยไม่ได้นัดหมายด้วยเหตุกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเสร็จ จะมีผลบังคับใช้ในช่วงใกล้ฤดูกาลแต่งตั้งพอดี คำถามในใจก็คือ "แต่งตั้งครั้งนี้ใช้หลักเกณฑ์เก่า หรือใหม่กันนะ" ประเด็นนี้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางมากใช้เวลาเกือบสามชั่วโมง กระผมเองได้ร่วมตอบข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาในบางประเด็นด้วย ในที่สุดสภามีมติในช่วงแรกเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นเวลาร้อยแปดสิบวัน(หกเดือน) การคัดเลือกและการแต่งตั้งให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบ และให้ข้าราชการตำรวจได้มีเวลาปรับตัว เช่น กรณีย้ายข้ามกองบัญชาการหรือเปลี่ยนสายงาน จะได้ไม่เกิดลักษณะปุบปับจับยัด ....... ในส่วนของบทบัญญัติมาตราอื่นๆ ที่ไม่มีบทเฉพาะกาลจะมีผลบังคับใช้ทันที เช่น
มาตรา 53 “ตำแหน่งข้าราชการตำรวจมี 5 กลุ่มสายงาน ดังต่อไปนี้
(1) กลุ่มสายงานบริหาร
(2) กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน
(3) กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ได้แก่ สายงานสืบสวนสอบสวน สายงานสืบสวน และสางานอื่นที่ ก.ตร. กำหนด
(4) กลุ่มสายงานป้องกันปราบปราม ได้แก่ สายงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และสายงานอื่นที่ ก.ตร. กำหนด
(5) กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ
กลุ่มสายงานใดจะมีสายงานใด และตำแหน่งใดอยู่ในสายงานใด ให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนดซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับการแบ่งสายงานตามวรรคหนึ่ง”
จะต้องปรับเปลี่ยนกำลังพลเข้าสู่สายงานทั้งห้าสายงาน ที่สำคัญยิ่งคือกลุ่มสายงานที่ 3 กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งต่อไปจะไม่มีรองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับการสืบสวนอีก แต่จะมีตำแหน่งสืบสวนสอบสวนก็คือฝ่ายสืบสวนจะอยู่ในกลุ่มสายงานนี้ ส่วนสายงานป้องกันปราบปรามไม่ต้องเขียนให้มีสายสืบ เพราะหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนมีอยู่ในตัวแล้ว นอกจากนี้มีการสร้างให้กลุ่มสายงานนี้โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนมีความเป็นอิสระจะได้ปราศจากการแทรกแซง จึงให้เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในระบบเลื่อนไหลทั้งนี้ตาม มาตรา 54 วรรคสอง
“นอกจากตำแหน่งข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ก.ตร. จะกำหนดให้ตำแหน่งรองสารวัตรในสถานีตำรวจหรือส่วนราชการระดับกองกำกับการอื่นที่ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมตามจำนวนที่เห็นสมควร เป็นตำแหน่งควบที่สามารถปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเองสูงขึ้นถึงระดับรองผู้กำกับการ และจะกำหนดให้ตำแหน่งผู้กำกับการในกองบังคับการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรจังหวัด หรือส่วนราชการระดับกองบังคับการอื่นที่ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมตามจำนวนที่เห็นสมควร เป็นตำแหน่งควบที่สามารถปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเองสูงขึ้นถึงระดับรองผู้บังคับการ ก็ได้”
จะส่งผลให้การอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาจะมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใดเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ข้อ ง. (4)
เขียนอีกจะยาวไป ไฮไลท์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ “ก.ค.พ.ตร.” คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ(ก.ร.ตร.) ยกเลิกการยกเว้นหลักเกณฑ์ของ กฎ ก.ตร. ให้กับบางคน(ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเดียวกันอย่างเสมอภาค)เป็นต้น จะได้ทยอยเขียนให้ได้อ่านกันต่อไปนะครับ
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ
5 กรกฎาคม 2565 “ข้อความ ของ พล.ต.ท.อำนวย ระบุ”