เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้สื่อข่าวรานงานว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้เซ็นหนังสือราชการด่วนที่สุด ที่.001(ผบ)/41 ลงวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงผบช.น. ภ.1-9 ก. ปส. สตม. สอท. จต. สตส. และ สกพ. ภายหลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการทำงาน ลดภาระงาน สร้างขวัญกำลังใจและสวัสดิการให้กับพนักงานสอบสวน
โดยมีทั้งเรื่องที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การแก้ไขคำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ลง 1 ก.ค.56 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา
การลดขั้นตอนทางธุรการและการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานสอบสวน ตามคำสั่ง ตร.ที่ 732/2566 ลง 28 ต.ค.66, การจัดสรรอัตราเงินเดือนเพื่อบรรจุและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 นาย รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการสรรหาและฝึกอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเร็ว ,
การวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งควบที่สามารถปรับระดับเพิ่ม – ลดได้ในตัวเองของพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นเส้นทางการเจริญเติบโตซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค.67,
การพิจารณาเสนอขอปรับปรุงอัตราเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับพนักงานสอบสวน โดยเทียบเคียงกับเจ้าหน้าที่อื่นในกระบวนการยุติธรรม และการบรรจุแต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมระหว่างนี้ เพื่อให้การบริหารงานสอบสวนมีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดจำนวนพนักงานสอบสวนให้เหมาะสมกับปริมาณงาน ช่วยลดภาระและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานสอบสวน
จึงให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ ผบช.น. ภ.1-9 ก. ปส. สตม. และ สอท. สำรวจปริมาณงานของพนักงานสอบสวนแต่ละสน./สภ. และ กก. ในสังกัด ทั้งการแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา การแจ้งความที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาการรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คดีจราจร และการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
2.นำผลการวิเคราะห์ฯ ตามข้อ 1.มาใช้ปรับเกลี่ยจำนวนพนักงานสอบสวนแต่ละ สน./สภ. และกก. ในสังกัด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณงาน โดยให้รายงานผลการดำเนินการให้ ตร. ทราบ ผ่านสกพ. ภายในวันที่ 29 ก.พ.67 3.กรณีคดีสำคัญหรือคดีที่มีความยุ่งยากสลับชับช้อน ให้ บช./ภ. หรือ บก/ภ.จว. พิจารณามอบหมาย พนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนในสังกัด ร่วมดำเนินการสอบสวน
4.ให้ ผกก./หัวหน้าสถานี หัวหน้างานสอบสวน ด้วยตนเอง หรือ จัดให้มีระบบพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา แนะนำแก้ไขปัญหาให้พนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน สน./สภ. และ กก. โดยมี ผบก. กำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติงาน



5.ให้ จต. สตส. และผู้บังคับบัญชาทุกระดับ กำกับ ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่และการรับคดีของพนักงานสอบสวนทุกราย โดยให้มีการบันทึกผลการตรวจไว้อย่างชัดเจน ผลการตรวจสอบจะต้องสอดคล้องกับสถิติการรับคดีในระบบ CRIMES และคำสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่ พนักงานสอบสวนเวร โดยหากพบข้อบกพร่องให้ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานให้ ตร. ทราบ