“ทวี สอดส่อง” ฟันธงปฏิรูปตำรวจ ผบ.ตร.ต้องเป็นประธาน ก.ตร. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ลั่นต้องเลิกระบบอุปถัมภ์แทรกแซงการแต่งตั้ง คืนความเป็นธรรมให้ตำรวจได้เลือกกันเอง
ในการประชุมร่วมของรัฐสภา วันพฤหัสบดีที่ 16 มิ.ย.65 ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัตติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาตินั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายมาตรา 14 โดยระบุตอนหนึ่งว่า มาตรา 14 เป็นมาตราที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปองค์กรตำรวจที่แท้จริง ซึ่งต้องเรียนว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นหนึ่งในองค์กรที่กฎหมายปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วคณะกรรมการก็เสนอให้มี 2 ก. คือ ก.คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. กับอีก ก.หนึ่ง คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช.
สิ่งที่เห็นว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปคือ เรื่องการบริหารงานบุคคลและการรับผิดชอบต่อองค์กร ผู้นำองค์กรที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่คือ ผบ.ตร. หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีภาวะผู้นำ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้ทั้งหมดแล้ว ประชาชนฝากความหวังไว้ทั้งหมดอยู่แล้ว จะต้องมีอำนาจในการบริหารบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นตนเห็นด้วยกับที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เสนอ คือต้องมี ก.ตร.
แต่ไม่เห็นด้วยใน 2 ประการ คือ ประธาน ก.ตร. จะต้องเป็น ผบ.ตร. ไม่ควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามร่างที่เสนอ เพราะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนดนโยบายอยู่แล้ว (ใน ก.ต.ช.) และในที่ประชุมกรรมาธิการก็บอกว่า อำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะบริหารราชการแผ่นดิน จะสามารถย้าย ผบ.ตร.ได้ตลอดเวลา ถ้า ผบ.ตร.ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย การที่ให้นายกรัฐมนตรีหรือนักการเมืองใดก็ตาม หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจ เข้ามาอยู่ในตำแหน่งประธาน ก.ตร. นอกจากจะไม่เป็นการปฏิรูปแล้ว ก็จะมีสภาพเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ผู้นำองค์กรเปรียบเหมือนดวงประทีปขององค์กรและเป็นศูนย์รวมจิตใจ ปัจจุบันมีข้าราชการตำรวจถึง 210,000 คน ถึงเวลาแล้วที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับตำรวจ คือ ให้ตำรวจเข้ามาเป็นประธาน ก.ตร. เพราะในอดีตที่ผ่านมาระบบอุปถัมภ์เข้าครอบงำตำรวจอย่างมากมาย โดยเฉพาะหลังจากการยึดอำนาจ ในการแต่งตั้งครั้งแรก นายกรัฐมนตรีก็ไม่เอาอาวุโสอันดับ 1 อันดับ 2 แต่เอาอาวุโสลำดับท้ายๆ ขึ้นมามาเป็น ผบ.ตร. และการแต่งตั้ง ผบ.ตร.อีก 2 คนต่อมา ท่านนายกฯก็เอาคนสุดท้ายขึ้นมา โดยไม่ยึดหลักอาวุโส ความรู้ ความสามารถ แม้จะมีรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วก็ตาม
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐสภาคืนตำรวจให้กับตำรวจ ในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คนนั้น เราให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 2 แสนคนเป็นผู้เลือก ไม่ใช่เป็นผู้ถูกหยิบยื่นขึ้นมาเหมือนในอดีต แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะถูกคัดเลือกโดย ก.ตร.อีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าให้นายกฯ มาเป็นประธาน ก.ตร. ก็อาจจะเอาตัวเลือกที่มีน้อยนิด จาก 6 คน เหลือ 3 คน หรือเอาคนรอบข้างนายกฯ 6 คน ไปให้ข้าราชการตำรวจ 2 แสนคนเลือก มันก็เหมือนไม่ได้มีการปฏิรูป จึงควรที่จะให้ ผบ.ตร.เป็นประธาน ก.ตร.
อีกข้อใน (3) กรณีที่เป็นจเรตำรวจ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารอง ผบ.ตร.นั้น เนื่องจากในการปฏิรูปครั้งนี้ บทบาทของจเรตำรวจได้หมดไปแล้ว จึงมีการเสนอยุบ
“ท้ายที่สุดผมคิดว่า มาตรานี้เป็นมาตราแห่งการปฏิรูปตำรวจ ในบรรดาคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำ ถ้าผู้นำยังอยู่ใต้อาณัติของผู้มีอำนาจทางการเมือง เราจะเห็นว่าอำนาจเผด็จการที่เข้มแข็งหรือคนชั่วที่แข็งแกร่งจะใช้คนในตำแหน่งที่อ่อนแอ โดยเฉพาะถ้าผู้นำตำรวจที่อ่อนแอ ต้องพึ่งกับผู้มีอำนาจ ประชาชนจะเดือดร้อนทั้งประเทศ เพราะในเรื่องความยุติธรรม ตำรวจถือว่าเป็นองค์กรที่สัมผัสประชาชนมากที่สุด” พ.ต.อ.ทวี ฯ สรุป.