“แอลกอฮอล์วอช” ร้อง กท.ยุติธรรม จัดหนักผับบาร์ ปล่อยเยาวชนใช้บริการ หลังพบ “ทะเลาะวิวาท-เสียชีวิตหน้าผับดัง เมืองคอน” ล่าสุดพ่วง “แวมไพร์ผับ ย่านปทุมวัน” พบมั่วสุมยาฯ-เปิดเกินเวลา ซ้ำเคยถูกสั่งปิดแล้วกลับมาเปิดใหม่ ท้าทายกฎหมาย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กระทรวงยุติธรรม เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วยเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จำนวน 20 คน ได้ร่วมกันเดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับสถานบริการที่ปล่อยให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ โดยยังพบว่ามียาเสพติด ละเมิดคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อคืนวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะวิวาท ทําร้ายร่างกายกันหน้าผับ “คลับ 99” ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย รวมถึงสถานที่ล่าสุด “แวมไพร์ผับ” แหล่งบันเทิงชื่อดังย่านปทุมวัน ภายหลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ สน.ปทุมวัน สนธิกำลังบุกจับเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบเด็กและเยาวชนเข้าใช้บริการ มีการมั่วสุม พบของกลางยาเสพติด ยาไอซ์-ยาอี จำนวนมาก อีกทั้งลักลอบเปิดเกินเวลา นอกจากนี้ยังพบว่าสถานบันเทิงแห่งนี้เคยถูกคำสั่งปิดเมื่อ 5 ปี มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แต่แอบกลับมาเปิดใหม่ท้าทายกฎหมาย
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) อนุญาตให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะสามารถเปิดให้บริการได้ถึงเวลาเที่ยงคืน เริ่มเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นมา ล่าสุดมีการรายงานผ่านสื่อมวลชนว่าเมื่อคืนวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าเกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน บริเวณลานจอดรถหน้าผับ “คลับ 99” ริมถนนสายพัฒนาการคูขวาง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี ซึ่งโดยกฎหมายไม่สามารถเข้าไปใช้บริการในสถานที่ดังกล่าวได้ รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นแวมไพร์ผับ ในพื้นที่เขตปทุมวัน กทม. พบนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกว่า 500 คน ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการอย่างน้อย 5 คน และตรวจพบปัสสาวะเป็นสีม่วงหลายราย ที่สำคัญคือผับดังกล่าวเคยถูกสั่งปิดตามคำสั่ง คสช. ไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2561 แต่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนกระทั่งถูกจับกุมตามที่เป็นข่าว โดยยังพบอีกว่าไม่มีใบอนุญาตสถานบริการ อย่างไรก็ตาม ผับแห่งนี้มีรั้วติดกับสถานศึกษา ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องปิดถาวร ไม่สามารถเปิดให้บริการได้อีก
นายธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า ทางเครือข่าย ฯ มีความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานศึกษาเพิ่งกลับมาเปิดเรียนตามปกติ และรัฐบาลกำลังผ่อนคลายกฎกติกาต่างๆให้กับสถานบริการร้านเหล้าผับบาร์ ซึ่งจะพบการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การละเมิดกฎหมาย เพื่อดึงดูดลูกค้าโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนมาก จาก 2 กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจะพบสถานประกอบการจำนวนมากที่ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรงในช่วงนี้
นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกคนได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย จะละเมิดกฎหมาย ใช้สถานการณ์โควิด-19 มาฉวยโอกาสกับเด็กและเยาวชนไม่ได้ ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงกังวลเป็นอย่างมาก เมื่อพบเด็กและเยาวชนเข้าไปอยู่ในสถานบริการผับบาร์ หรือเรื่องยาเสพติด ก็เห็นควรให้ทางภาครัฐดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะขอให้ตรวจสอบแวมไพร์ผับที่ถูกสั่งปิดแค่ 5 ปี ทั้งที่อยู่ในเขตโซนนิ่งรั้วติดสถานศึกษา เหตุใดจึงปิดเพียง 5 ปีทั้งที่ควรจะปิดยาว
นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้สถานศึกษาเพิ่งกลับมาเปิดเรียนตามปกติ และรัฐบาลกำลังผ่อนคลายกฎกติกาต่างๆให้กับสถานบริการร้านเหล้าผับบาร์ ซึ่งจะพบการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การละเมิดกฎหมาย เพื่อดึงดูดลูกค้าโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนมาก 2 กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจะพบสถานประกอบการจำนวนมากที่ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรงในช่วงนี้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนช่วยเฝ้าระวังบุตรหลาน หากพบเห็นว่ามีความเสี่ยงจะเข้าไปใช้บริการผับบาร์ สามารถแจ้งเบาะแสไปที่เพจเฟซบุ๊ก Alcohol watch ได้ทันที
ด้านนายวันชัย พูลช่วย เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณา ดังนี้ 1. ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว หากพบว่ามีการปล่อยประละเลยหรือละเมิดกฎหมาย เช่น ปล่อยให้เด็ก เยาวชน เข้าไปใช้บริการและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีการเปิดเกินเวลา ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด และหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ หรือยาเสพติดเข้าในสถานบริการ หากมีการกระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ท่านดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะคำสั่งปิด 5 ปี หรือปิดถาวร 2.ขอให้มีการเฝ้าระวังและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับสถานบริการ ร้านเหล้า ผับ บาร์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ให้เข้าใจกฎหมายและไม่กระทำการใดๆที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย 3.เครือข่ายฯ มีความเข้าใจและเห็นใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเปิดสถานประกอบการได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย และสถานประกอบการสามารถเปิดกิจการได้ ขอให้เปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตามกฎหมายอย่าเคร่งครัด ไม่ฉวยโอกาส หรือละเมิดกฎหมาย สร้างผลกระทบทางสังคม และ 4.เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ สถานบริการร้านเหล้าผับบาร์ ที่ทำผิดกฎหมาย ตลอดจนขอเป็นกำลังใจ และยินดีสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามกำลัง เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน และสังคมต่อไป
ขณะที่ นายวัลลภ โฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมจะประสานงานช่วยเหลือตรวจสอบ ซึ่งการปลดล็อคสถานบริการ ผับ บาร์ และสถานบันเทิงต่าง ๆ ถือเป็นการทดลองของการกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่หากพบการละเมิดกฎหมาย ก็จะต้องมีการทบทวนการตรวจสอบแน่นอน โดยกระทรวงยุติธรรมจะช่วยเร่งรัดติดตามความคืบหน้าอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางสุภาภรณ์ ชมชัย ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครนายก รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน ได้นำใบรายงานสรุปข้อมูลของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ. สกอ. สกศ.) กรมควบคุมโรค และกรุงเทพมหานคร ที่ได้มีการดำเนินการกำหนดเขตโซนนิ่งบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา โดยมีกรมสรรพสามิต เป็นฝ่ายเลขานุการและจัดทำรูปแผนที่ขอบเขตโซนนิ่งรอบสถานศึกษาไปแล้ว จำนวน 34,949 แห่ง ประกอบด้วย ระดับประถม 26,557 แห่ง ระดับมัธยม 7,122 แห่ง ระดับอาชีวศึกษา 863 แห่ง ระดับอุดมศึกษา 390 แห่ง และระดับโรงเรียนกีฬาจำนวน 17 แห่ง
นางสุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ค.58 กำหนดให้ทั้ง 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังกล่าว ร่วมกันกำหนดนิยามและเขตพื้นที่ของคำว่า “บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา” โดยได้กำหนด นิยามศัพท์ หมายถึง บริเวณต่อเนื่องติดกับสถานศึกษาและบริเวณถัดออกไป โดยบริเวณถัดออกไปดังกล่าวต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ประกอบด้วย 1.บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่เด็ก เยาวชน นักศึกษา สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเมื่อพิจารณาจากระยะห่างจากสถานศึกษา 2.บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีลักษณะที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก เยาวชน นักศึกษา 3.บริเวณดังกล่าวมีสถานที่ที่มีลักษณะอาจเป็นแหล่งมั่วสุมหรือเป็นแหล่งมอมเมาเด็ก เยาวชน นักศึกษา 4.บริเวณดังกล่าวพึงเห็นได้ว่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อเด็ก เยาวชน นักศึกษาในสถานศึกษา
นางสุภาภรณ์ ยังกล่าวถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 ข้อ 4 ระบุ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ 2.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ 3.เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ 4.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่ากำหนดเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ 5.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่ของตน และที่แก้ไขเพิ่มเติมในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/59 ในข้อ 1 ระบุ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (5) และ (7) ของข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ดังต่อไปนี้ 6.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในสถานที่ของตน 7.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการเล่นการพนันอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในสถานที่ของตน
ทั้งนี้ หากสถานประกอบการใดในโซนนิ่งกระทำผิดเข้าข่าย 1 ใน 7 ข้อ ของคำสั่งหัวหน้า คสช. จะต้องถูกสั่งปิดถาวร แต่ถ้าเป็นสถานประกอบการนอกโซนนิ่ง กระทำผิดเข้าข่าย 1 ใน 7 ข้อ จะถูกสั่งปิดเพียง 5 ปี อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้มีการตรวจสอบสถานบริการที่อยู่ในเขตโซนนิ่งใกล้เคียงสถานศึกษาเป็นพิเศษแล้ว และเน้นประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษา และผู้ประกอบการอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ก็ยอมรับว่าการกำหนดเขตโซนนิ่งในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่จะกำหนดตามบริบทในพื้นที่นั้นๆ ทำให้โซนนิ่งบางแห่งอยู่แค่เพียงกำแพงรั้วของสถานศึกษา ทั้งที่ความจริงควรจะอยู่ถัดออกไป ดังนั้นบางแห่งอาจจะต้องมีการทบทวนการกำหนดเขตโซนนิ่งใหม่