คณะกรรมการโรคติดต่อฯอยุธยา ประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมรองรับ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการโควิด เดินหน้าเศรษฐกิจเปิดประเทศ 1 มิ.ย.นี้
วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายวีระชัย นาคมาศ (นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 17/2565 โดยมี พ.อ.(พ) ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.กอ.รมน. นายนครินทร์ อาจหาญ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินการประชุม คณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งผ่านทางระบบ ZOOM ณ ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 เตรียมความพร้อมสู่โรคประจำถิ่น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26 ราย ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) จำนวน 287 ราย หายป่วยวันนี้ 44 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 30,401 ราย
นายวีระชัย นาคมาศ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคลี่คลายดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากจังหวัดได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้สูง ทั้งนี้ ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยปรับระดับพื้นที่สถานการณ์และมีแผนการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว(สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการปรับเป็นพื้นที่สีฟ้า รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พระนครศรีอยุธยา ภาชี อุทัย และบางปะอิน และพื้นที่สีเหลืองเดิม จำนวน 12 อำเภอ จึงขอให้นายอำเภอ ผอ.รพ.สต. สาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ดำรงมาตรการ 2U ลดเสี่ยงแพร่-รับเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อาทิ อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ และให้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนได้ใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ New Normal เข้าสู่โรคประจำถิ่น
นอกจากนี้ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเปิดโรงเรียน ซึ่งอาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงขอให้นายอำเภอกำชับสถานศึกษาในพื้นที่ หากพบเด็กนักเรียนมีการติดเชื้อให้ดำเนินการใน 2 มาตรการ ได้แก่ ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ และให้ความสำคัญกับครอบครัวเด็กนักเรียนที่มีปู่ย่าตายายอยู่ที่บ้าน ขอให้เฝ้าระวังด้วย เพราะหากกลุ่ม 608 เกิดการติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการ 3T 1V รวมถึงสำรวจการฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียน และ กลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ทั้งนี้ จังหวัดฯ ได้ประเมินกับกระทรวงศึกษาและเตรียมความพร้อมด้านการรักษารองรับไว้ด้วยแล้ว
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา