“ททท.และจังหวัดสุรินทร์ประกาศความสำเร็จลงบน Guinness World Record
พับตุ๊กตาช้างด้วยผ้าพื้นเมืองสุรินทร์จำนวนมากที่สุดในโลก!!
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วยจังหวัดสุรินทร์ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่บันทึกสถิติลงบน Guinness World Record ภายใต้หัวข้อ “Most people folding fabric animals simultaneously”การพับตุ๊กตาช้างจากผ้าพื้นเมืองสุรินทร์จำนวนมากที่สุดในโลก 9,010 ตัว มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่าน Soft Power of Thailand (5F : F- Fashion) วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยสู่สากล เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภาคอีสานปลายปี 2565
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการจัดงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2565 ณ สนามแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีไฮไลท์ของการจัดงาน คือ กิจกรรมพับตุ๊กตาช้างจากผ้าพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ ในโอกาสนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท.ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในผู้ร่วมประสานงานจัดกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 8,745 คน และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้รับการบันทึกสถิติลงบน Guinness World Record ภายใต้หัวข้อ “Most people folding fabric animals simultaneously” โดยการพับตุ๊กตาช้างจากผ้าพื้นเมืองสุรินทร์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก จำนวนกว่า 8,745 ตัว ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวสุรินทร์ และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน Thailand Festival Experience สะท้อนคุณค่าของวิถีไทยและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผ่าน Soft Power of Thailand (5F : F- Fashion) การแต่งกายผ้าพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตลอดจนส่งมอบประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวที่เต็มเปี่ยมด้วยความหมายและความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว (Meaningful Travel)
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กิจกรรมสาธิตการทอผ้าไหม กิจกรรมเดินแบบผ้าไหมเมืองสุรินทร์ กิจกรรมรำวงย้อนยุค การจัดนิทรรศการเรื่องช้าง และจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของช้างไทยและถือเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ช้างไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ ททท.คาดว่ากิจกรรมสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในพื้นที่และเชื่อมโยงจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน และเพิ่มอัตราเข้าพัก นำไปสู่การกระจายรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อช่วยผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2565 ให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กรและประเทศต่อไป
//////////////////////