ข่าว 2
ถกโต๊ะเล็ก “วราวุธ” หารือ อเมริกา ประเด็นการลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการเกิด Climate Change ระดับโลก
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ Sharm El-Sheikh International Convention Center นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย COP27 พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เข้าหารือร่วมกับตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา MR.John Kerry ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) และคณะ ภายหลังจากการกล่าวถ้อยแถลงฯ บนเวทีโลก
นายวราวุธ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ ประเทศไทยได้บอกกล่าวเจตนารมณ์ และเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกใน ค.ศ. 2030 หรือที่เรียกว่า NDC (Nationally Determined Contribution)รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2065 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-
เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) อย่างจริงจัง
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สหรัฐอเมริกาได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทน ในประเทศไทย และทั่วโลก เพราะปัญหาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวันนี้ เกิดจากก๊าซมีเทน ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในประเทศไทยพบว่าสาเหตุหลักในการเกิดก๊าซมีเทน มาจากภาคการเกษตรทำนาปลูกข้าวนับล้านไร่ เป็นการทำนาในลักษณะปล่อยน้ำขังไว้ในที่นาเป็นเวลานาน ๆ ก็ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนออกมา เช่นเดียวกับภาคปศุสัตว์ ก็มีการสร้างก๊าซมีเทนออกมาเช่นกัน ซึ่งก๊าซมีเทน ถือว่ามีอานุภาพร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26-28 เท่า โดยคาดหวังว่า การดำเนินงานดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงจะสนับสนุนการรักษา Pathway 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายของความตกลงปารีสต่อไป
ดังนั้นทางสหรัฐจึงมาหารือและเชิญชวนทุกประเทศ ช่วยกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทนลง พร้อมขอให้ประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลง ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยจะต้องรับไปหารือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลภาคการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน ในรายละเอียด และยังต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
///