วันนี้ 12 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ทาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยภายในงานมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดกิจกรรม ผ่านระบบ zoom meeting และมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้กล่าวรายงาน ในการนี้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทวง / ทบวง / กรม ตลอดจนผู้อำนวยการกอง / กลุ่มงาน ศอ.บต. ร่วมพบปะ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาล ตระหนักดีว่าการมีส่วนร่วม ของประชาชน ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่จะต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้เป็นภาคีการทำงานร่วมกับรัฐบาลและส่วนราชการในการสร้างประโยชน์และความสุขให้กับประชาชน ซึ่งผลสรุปจากการประชุมในวันนี้ จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กพต. ในวันที่ 19 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลง พลิกฟื้นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่จะทำให้องค์กร ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็ง ตามวิถีทางประชาธิปไตย ที่มุ่งหวังให้เกิดการทำงาน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง ขอให้ทุกท่านระดมความเห็นกันอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปเป็นข้อเสนอ ให้ ศอ.บต. เสนอต่อ กพต. และคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานในพื้นที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ และมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างรัฐและประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี กพต. จึงได้สั่งการให้ ศอ.บต. หาวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นการสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและรับข้อเสนอแผนงาน/โครงการจากองค์กรภาคประชาสังคม ในวันนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ส่วนราชการ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ มากกว่า 300 องค์กร รวมกว่า 600 คน
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยู กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับ การกำหนดกรอบแผนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะที่ 4 ปี 2567 – 2570 ศอ.บต. มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการภาครัฐ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นภายใต้วิถีสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน กำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาค ประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาและ พัฒนาให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รวมถึงสร้างเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งโดยร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ สนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมเป็นศูนย์กลางการประสานและเชื่อมต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำความสันติสุขมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว
สำหรับการประขุมในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ ภาคประชาสังคม กว่า 300 องค์กร ได้มีการการนำเสนอแผนงาน/โครงการและวางแนวทางการขับเคลื่อนแผนร่วมกับภาครัฐ เพื่อหนุนเสริม การทำงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามที่ประชาชนในพื้นที่ได้ออกแบบไว้โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นโซ่ข้อกลางอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ในเบื้องต้นได้กำหนดประเด็นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานจำนวน 7 ประเด็นประกอบด้วย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม ด้านการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการอำนวยความยุติธรรม การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ด้านการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข็มแข็ง และ ด้านการสร้างความเข้าใจประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) แยกตามประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อนำเสนอแผนงาน/โครงการและความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งหลังจากการประชุมวันนี้ ศอ.บต. จะได้รวบรวมทำเป็นแผนและเสนอต่อที่ประชุม กพต. ต่อไป