การปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ส่งผลดีในทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการสร้างสุขภาพ และยารักษาโรค
ตามที่เขตสุขภาพที่ 6 กำหนดจัดงาน”บูรพารวมกัญ มหัศจรรย์กัญชา สร้างสุขภาพ สร้างงานสร้างรายได้” มีการประชุมทางวิชาการ จัดบูธนิทรรศการ บูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา คลีนิคกัญชาทางการแพทย์ ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.65 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การถอนกัญชาออกจากบัญชีรายการยาเสพติดดำเนินมาเป็นระยะเวลาหลายปี ก่อนจะถึงโค้งสุดท้ายที่ (ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะมีขึ้นในไม่ช้านี้
ตลอดระยะเวลาเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 มีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เรียกร้องให้มีการทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยให้กัญชาและกระท่อม ออกจากบัญชีรายการยาเสพติดประเภทที่ 5 ผลปรากฏว่าพืชกระท่อมได้รับการพิจารณายกเลิกออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษไปก่อน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 พ.ค.64 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 ส.ค.ในปีเดียวกัน และได้เห็นกระแสตอบรับจากสังคม เห็นการใช้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่ผิดกฎหมายและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของการถอนกัญชาให้พ้นจากบัญชีรายการยาเสพติดนั้น แม้จะมีความล่าช้ากว่ากระท่อม แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีมติผ่านร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ปลดกัญชาจากยาเสพติด เว้นแต่สารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2 % โดยน้ำหนัก โดยร่างฯดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศใช้
ปี 2562 ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศให้มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยในบางโรคสามารถเข้ารับบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ทั้งในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อห่วงกังวลทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการ และความเข้าใจของสังคมที่ต่อกัญชา ยังคงดำเนินต่อไป
ในที่นี้จึงขอเสนอเหตุผล ที่เราควรถอดหรือปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชีรายการยาเสพติด ดังนี้
1.หลังจากมีการใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ มีงานวิจัยพบว่า เกือบหนึ่งปีแรกของการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์แบบถูกกฎหมาย ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาจากแหล่งนอกระบบสาธารณสุข และใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยหลายชนิดที่อยู่นอกเหนือข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผล แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลับมองเห็นเฉพาะด้านบวกของกัญชาและผลของการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค เนื่องจากประชาชนจำนวนมากก็ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่แล้ว
การช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ การเพิ่มการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจากคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน และการทบทวนข้อบ่งชี้ของการสั่งใช้ยากัญชาให้ทันสมัยตามหลักฐานวิชาการ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ป่วย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการ
2.หากปลดล็อกกัญชาแล้ว การเข้าถึงกัญชาจะสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้การกระตุ้นการขายหรือโฆษณาชวนเชื่อจากสินค้าใต้ดินลดลง การเข้าถึงความรู้และช่องทางต่าง ๆ ในการให้ข้อมูลการใช้ที่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้น การสร้างอุปสงค์หรือดีมานด์เทียมจะน้อยลง เช่น การโฆษณาเรื่องรักษาโรคได้ 39 โรค หรือการสร้างเคสผู้ป่วยหลอกขึ้นมาจะค่อย ๆ หมดไป
3.การแพทย์แผนไทยมีการใช้กัญชาในฐานะที่เป็นยาสมุนไพรผสมอยู่ในตำรับยามาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต และใช้อย่างกว้างขวาง มีปรากฏอยู่ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตลอดจนถึงบันทึกการใช้ของหมอพื้นบ้านและประชาชนทั่วไปในภาคต่างๆ หากเปรียบเทียบตำรับยากัญชา กับตำรับยากระท่อม พบว่าตำรับยากัญชารักษาโรคในกลุ่มโรคที่มากกว่า
ตำรับยากัญชา มีกลุ่ม 1.กร่อน กษัย 2.แก้ลม 3.แก้ไข้ 4.แก้ตานทราง 5.แก้ท้องผูก 6.แก้ท้องเสีย 7.แก้บิด 8.แก้ธาตุพิการ 9.แก้นอนไม่หลับ 10.ยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย 11.แก้เบื่ออาหารเจริญอาหาร 12.แก้ป่วง 13.แก้ปวดเมื่อย 14.แก้มะเร็ง 15.ยาสตรี 16.แก้ริดสีดวง 17.แก้โรคประสาท 18.แก้โรคผิวหนัง 19.แก้สารพัดโรค 20.แก้อัมพาต อัมพฤกษ์ 21.อื่น ๆ อันประกอบด้วย ลดความดันโลหิต แก้นิ่ว แก้บาดทะยัก แก้ฝีภายใน แก้มุตฆาต ยาอดฝิ่น ยาอายุวัฒนะ ยาขี้ผึ้งปิดเเผล ยาแก้เลือดออกตามไรฟัน ยาแก้บวมพองวัณโรค ยาแก้สันนิบาต เเละยาแก้โรคสำหรับบุรุษ
ตำรับยากระท่อม 1. แก้บิดลงท้อง 2. แก้ไข้ 3. ม้ามโต 4.อายุวัฒนะ 5.เปื่อยพองเพื่อตาลทราง 6.สันนิบาต 7.สมรรถภาพ 8.ท้องอืดเฟ้อ 9.เลิกฝิ่น 10. ริดสีดวงทวาร 11. ผอมเหลือง 12.ธาตุ ธาตุพิการ บำรุงธาตุ 13. หัดหลบใน 14.ประดง 15.ลม (กล่อมอารมณ์) 16.ป่วงน้ำ 17.ป่วงหิว 18.แก้ปวดมวน 19.ยาบิดหัวลูก 20.แก้เชื่อมฝีดาษ 21.แก้ปวด
4.การใช้กัญชามีอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทยมานานหลายร้อยปี ดังจะเห็นว่ากฎหมายลักษณะโจร ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ห้ามการสูบฝิ่น แต่ไม่พบว่ามีการห้ามสูบกัญชา สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของกัญชา รู้ว่ากัญชามีหลายมิติ และเลือกที่จะใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ยกย่องผู้ที่ใช้กัญชาจนเมามายแต่อย่างใด มีการใช้ใบกัญชาปริมาณเล็กน้อย ในการปรุงรสอาหารหลายตำรับในแทบทุกภาค เมื่อพิจารณาต้นกัญชาในฐานะยาสมุนไพร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น โดยแยกดูในแต่ละส่วนจะเห็นว่า รากและใบสด ไม่มีสารเมา ไม่เกิดการเสพติด รากกัญชาแก้อักเสบ ในใบกัญชาสดสามารถแก้ประสาทอักเสบได้ และส่วนอื่น ๆ ของกัญชาสามารถนำไปเข้าตำรับยาได้
5.สืบเนื่องจากการที่มีการใช้กัญชาในวัฒนธรรมสังคมไทย ซึ่งหมายถึงประสบการณ์การใช้ในครัวเรือนมาเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสที่จะต่อยอดจากตำรับอาหาร หรือยาสามัญประจำบ้านเพื่อใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ด้วย
6.มีรายงานการศึกษาสนับสนุนว่า ในบรรดาสิ่งเสพติดที่คุ้นเคยกันดีนั้น กัญชาจัดอยู่ในกลุ่มที่เลิกง่ายกว่าสิ่งเสพติดอื่น ๆ กล่าวคือ ฝิ่น เมื่อติดแล้วเลิกยาแบบหักดิบไม่ได้ มักจะมีอาการลงแดง เหล้าหักดิบไม่ได้ บุหรี่เลิกยาก กระท่อม เลิกง่ายกว่าหมาก ส่วนกัญชานั้นเลิกง่ายกว่ากระท่อม
7.ในระยะหลังมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองการใช้ประโยชน์จากกัญชามากขึ้น เช่น รากกัญชาสามารถนำไปสกัดทำเป็นยาแก้ปวดเมื่อย การนำเม็ดกัญชาไปใช้เป็นยาระบายในเภสัชจีน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการพัฒนายาแผนปัจจุบันจากสารสกัดกัญชาที่บริษัทยาหลายแห่งผลิตออกสู่ตลาดแล้ว จึงเป็นที่น่าเสียดาย หากกัญชาจะยังถูกจองจำให้อยู่ภายใต้บัญชีรายการยาเสพติด
8.การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกัญชาจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น หากถอดกัญชาออกจากบัญชีรายการยาเสพติด โดยจะสามารถยกระดับความเชี่ยวชาญการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ การคุ้มครองพันธุ์ โดยขบวนการภาคประชาชนสามารถช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์ อันจะเป็นพืชที่มีประโยชน์ในอนาคต
ในส่วนของ รพ.อภัยภูเบศร การวิจัยจะต้องมีการวางเส้นทางแผนอย่างเป็นระบบ และสร้างเครือข่าย มีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ทั้งระยะสั้นระยะยาวให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยมั่นใจว่า ไทยเชี่ยวชาญด้านการใช้กัญชามากที่สุดในโลก!มีตำรับยาในการใช้กัญชาอยู่ ในหลายประเทศไม่มีเท่าเรา และสามารถที่จะ พัฒนาจากฐานภูมิปัญญาไทย เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี่สมัยใหม่
เป้าหมายคือ
-ประชาชนใช้เป็น ภาคอุตสาหกรรมแข็งแรง
– คุณภาพ ประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม
– เป็น Hub การบริการด้านสุขภาพด้านกัญชาทุกมิติ
ที่ผ่านมานับจากอดีต เราใช้กัญชาในหลายมิติ เป็นอาหาอย่างชาญฉลาด โดยที่เรารู้ว่า กัญชาเป็นสารเมา สารเมาไม่ละลายน้ำ แต่ก็มีประโยชน์อื่นที่ต้องศึกษา
เป็นอาหาร เราใส่น้ำซุป สารเมาละลายออกน้อยมาก เรากินผักสด – แร่ธาตุมากมาย กินใบสดได้เพราะสาร ยังไม่เปลี่ยนเป็นสารเมา เราผัดกัญชาเป็นกระเพราได้ ไม่พอเป็นสารเมา! พบว่าคนไทยฉลาดในการใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย โดยสรุปคนไทยเราใข้กัญชาเป็นอาหาร ยา ใช้ในส่วนเครื่องสำอางค์ จึงมั่นใจว่าเป็นภูมิปัญญาสั่งสมเอาไว้ เราไม่ต้องเสียโอกาส เราให้ประชาชนเข้าถึงได้ใช้ประโยชน์
การชั่งน้ำหนักประชาชนควรเข้าถึงกัญชา การกลับมาของกัญชา ต้องมีการให้ความรู้ ต้องใช้กัญชาในการดูแลตนเอง นับตั้งแต่โรคพื้นฐาน
ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีต้องปลอดภัยโดยเฉพาะสายพันธุ์กัญชาในการควบคุมคุณภาพ
ในทางของรัฐบาลเองต้องยืนยันมาตราฐานความปลอดภัยเป็นตัวตั้ง การบริการในระดับต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร ไม่เมาใช้ก้าน ใบ ทำให้อาหารมีรสชาติดี ทำให้เชื่อมั่น การนำกัญชาใส่หม้อตุ่นหม้อต้ม
การใช้กัญชาในสปา ในการส่งเสริมสุขภาพอื่น การนวดเป็นอัตลักษณ์ของชาติ นำมาสู่ Hub ในนวดแผนไทย ผสมผสานกัญชาไทยเป็นเครื่องมืออย่างเข้าใจ
ขณะนี้กัญชามีทุกแห่ง การปลดล็อคจะทำให้คนเชี่ยวขาญในการปลูกกัญชาเพิ่ม เพราะเราห่างหายมากว่า 20 ปี ซึ่งเรื่องภูมิปัญญาไทยกัญชาเป็นหนึ่งแต่ต้องพัฒนาการปลูก
ในส่วนของอภัยภูเบศร ได้มีความพยายามทำให้เห็นว่าเราทำได้ ในด้านการเป็นผู้ นำร่อง “อภัยภูเบศรโมเดล” นับจากการปลูก การผลิต เผยแพร่ คลีนิคกัญชาทางการแพทย์ และจะทำหน้าที่ต่อไปให้กัญชาในทุกมิติ ทำยา ทำอาหาร ทำจุดเล็กๆ ให้เห็นร่องรอยว่ากัญชาทำอะไรได้บ้าง บนพื้นฐานแห่งความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน
มานิต สนับบุญ-รายงานจาก จ.ปราจีนบุรี