จังหวัดน่าน จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ครั้งที่ 3
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.65 ห้องประชุมเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ชั้น 6 ศาลากลางจังหวัดน่าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานการประชุมการถอดบทเรียนในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจังหวัดน่าน ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565 เพื่อมุ่งเน้นให้ส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจังหวัดน่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน เกษตรจังหวัดน่าน พัฒนาที่ดินจังหวัดน่าน ชี้แจงสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจังหวัดน่าน ซึ่งจังหวัดน่านได้กำหนดเป้นหมายการดำเนินการลดจุดความร้อน (Hotspot)โดยจังหวัดน่านกำหนดเป้าหมายให้มีการเกิดจุดความร้อนในปี 2565 น้อยกว่าร้อยละ 20 โดย ได้ไม่เกิน 4,493 จุด มีการเกิดจุดความร้อน จำนวน 804 จุด
สาเหตุของปัญหาคือ การเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือทำให้เกิดหมอกควันข้ามแดนเพิ่มขึ้นทุกปี สถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ ส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ป่า ร้อยละ 47 รองลงมา คือ พื้นที่เกษตร ร้อยละ 40 นอกจากนี้ ขนส่งจังหวัดน่าน ได้รายงานผลการดำเนิน กิจกรรมตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้โครงการ “น่านเข้ม ลดควันดำ ลด PM2.5” เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยระบายค่าควันดำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้ใช้รถบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ แต่ช่วงระยะนี้ พื้นที่จังหวัดน่านมักประสบปัญหามลพิษจากหมอกควัน ซึ่งมีสาเหตุจากการเผาพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร วัชพืชริมทาง เผาขยะมูลฝอยในชุมซน และควันพิษจากยานพาหนะ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนบดบังทัศนวิสัย และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการจราจรและขนส่ง จังหวัดน่าน จึงได้นำร่องการเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และควบคุมมลพิษทางอากาศ ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมานกำหนด เพื่อลด ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน
ที่ประชุม ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PMs ที่กำหนด โดยให้แต่ละหน่วยงานแจ้งผลการปฏิบัติงานกับฝ่ายเลขา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดน่าน) เพื่อสรุปผลการดำเนินงานนำเข้าประชุมกรมการจังหวัดต่อไป