วัดบ้านกร่าง
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วม 400 ปี
วัดบ้านกร่าง ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา คาดว่าน่ามีอายุร่วม 400 ปี จุดเด่นของวัดอยู่ตรง กรุพระขุนแผนบ้านกร่าง ซึ่งเป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา เชื่อกันว่า หากชายใดห้อยกรุพระขุนแผนนี้แล้ว จะแคล้วคลาดคงกระพัน จึงสันนิษฐานกันว่า พระเครื่องเหล่านี้ น่าจะถูกสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าเป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ แล้วบรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่าง จึงเป็นพระที่มีความหมายมาก โดยพิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถคู่กัน ปัจจุบันพระรูปแบบนี้นับวันยิ่งหายากยิ่งนัก
ภายในวัดยังเต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น พระอุโบสถและวิหาร ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง
ใบเสมาที่เรียงรายรอบพระอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา ทำให้ใบเสมาของวัดนี้มีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนวัดใด
ส่วนวิหารมีอายุราว 450 ปี ภายในมีหลวงพ่อแก้วและพระประธาน
ถัดมาเป็น “มณฑป” ด้านในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476
ด้านหลังวิหาร ประดิษฐาน เจดีย์ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง(พระขุนแผน) ภายในพระเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20-30 องค์ รวมไปถึง พระเครื่อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว
ริมแม่น้ำยังมี “เจดีย์กลางน้ำ” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อายุราว 150 ปี มีลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง เดิมทีองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นไว้ให้คนทั่วไปได้สักการบูชาในวันลอยกระทง แต่เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ จึงเป็นเหตุให้พระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จทรงนมัสการเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ คราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 และตั้งพลับพลาที่ตำบลบ้านกร่าง