“โฆษก ศธ.แถลงข่าว ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน 5 นโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ.“ตรีนุช เทียนทอง”
โฆษก ศธ.“วีระ แข็งกสิการ” แถลงข่าวความก้าวหน้าการขับเคลื่อน 5 นโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ.“ตรีนุช เทียนทอง” ในประเด็น“สถานศึกษาปลอดภัย (MOE Safety Center) – การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา – อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ – โรงเรียนคุณภาพ – พาน้องกลับมาเรียน/กศน.ปักหมุด”
วันที่ 15 กันยายน 2565, พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าการขับเคลื่อน 5 นโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ.“ตรีนุช เทียนทอง” โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ศธ.เข้าร่วม ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ETV และเฟซบุ๊ก “ศธ.360 องศา”
สถานศึกษาปลอดภัย (MOE Safety Center)
นายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อํานวยการศูนย์ความปลอดภัย ศธ.กล่าวว่า รมว.ศธ.ให้ความสําคัญกับความปลอดภัยของนักเรียนเป็นอันดับแรก เน้นย้ำ“อยู่บ้านปลอดภัยอย่างไร อยู่โรงเรียนปลอดภัยอย่างนั้น” โดยได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ “MOE SAFETY CENTER” โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นแอปพลิเคชันในการแจ้งเหตุความไม่ ปลอดภัย เพื่อใช้กับทุกส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัด สามารถติดตามแก้ไขได้ถึงต้นตอของ ปัญหา สามารถติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรมและโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย
มีการรายงานการแก้ไข ปัญหาแบบ Real time และที่สำคัญสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูล (Big Data) ที่จะนํามาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษาบนความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ มีการพัฒนาบุคลากรทาง การศึกษาในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานระบบ เพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่มีผลต่อนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงให้ความสําคัญกับการอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้และทักษะที่จะนําไปสื่อสารกับเด็กในวัยเรียนด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยแบบคู่ขนานกัน จัดกิจกรรม SAFE สถานศึกษาปลอดภัย เพื่อสร้างการรับรู้ถึงช่องทางการรับแจ้งเหตุภัยอันตราย รวมถึงแนวทางและมาตรการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปรามไม่ให้ภัยร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้น กระจายการจัดกิจกรรมไปทั่วประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียนและเยาวชน ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ 2.ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 3.ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และ 4.ภัยที่เกิด จากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ ซึ่งความเสี่ยงความไม่ปลอดภัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้น ได้โดยไม่คาดคิด
ศธ.มีความมุ่งมั่นในการจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ กระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยในทุกด้านทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้หากผู้ปกครองหรือนักเรียนพบเจอความไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่ระบบ MOE Safety Center ผ่าน 4 ช่องทางทั้ง Application MOE Safety Center, http://www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter และ Call Center โทร. 02 126 6565
การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
นายทวีสิทธิ์ ใจห้าว รองศึกษาธิการภาค 8 กล่าวว่า ปัจจุบันครู 9 แสนคน ทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคาร สงเคราะห์และสถาบันการเงินอื่น ๆ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯมีเป้าหมายต้องการยุบยอดหนี้ของครูให้ลดลง ลดภาระหนี้โดยรวมให้น้อยลง รวมถึงบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีรายได้ต่อเดือน เหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน
กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฯ ใน 7 ประเด็น ได้แก่
1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยการเจรจาขอความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 70 แห่ง ปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยร้อยละ 0.3 โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท
2.ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชําระหนี้ โดยไม่ให้เกินศักยภาพที่จะ ชําระคืนได้ด้วยเงินเดือน
3.ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายได้ดำเนินการชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย กับลูกหนี้ที่ผิดชําระ ซึ่งในระหว่างการชะลอการฟ้องนี้ ศธ.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลครูและเจรจาหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม ล่าสุดได้ร่วมกับธนาคารออมสิน สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู สร้างโอกาสใหม่ ให้ครูไทย” นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้
4.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ ระดับจังหวัด 77 แห่งระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง 236 แห่ง รวม 558 สถานีแก้หนี้ฯ ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้และ ปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงทะเบียนผ่าน http://td.moe.go.th โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นราย มูลค่าหนี้กว่า 5.8 หมื่นล้านบาท
5.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือ เงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
6.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการช.พ.คในกลุ่มแรก(ร้อยละ70ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 365,579 ราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท
7.ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะด้านการเงินแก่ครูโดยร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและ ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้วางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพื่อให้ครูสามารถวางแผน มีวินัยในการบริหาร การเงิน และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคม โดยผลการดําเนินงาน มีผู้ลงทะเบียนกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งผ่านการอบรมแล้วกว่า 2 หมื่นราย
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ร่วมมือกับกองทุน กบข.จัด ”โครงการสินเชื่อ กบข.เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ”เพื่อช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สิน ผู้ถูกฟ้องร้อง ผู้มีหนี้สินวิกฤติ หรือมียอดเงินเดือนเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 และเป็นสมาชิก กบข.สามารถกู้เงิน กบข.ในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนมาลดยอดหนี้ได้ ชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 0.50-1.00 บาท ต่อปี
อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สอศ. กล่าวว่า โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกําลังคนของประเทศ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เป็นการตอบสนองนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการ ผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ การติดตามและให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ออกกลางคัน
รวมทั้งการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนในกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งหมายให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมอบทุนเรียนฟรีต่อเนื่อง 3 ปี มีหอพัก อาหาร 3 มื้อ รวมทั้งอุปกรณ์ การเรียน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง รวมทั้ง ส่งเสริม การมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย ปัจจุบันมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาภายใต้โครงการ 88 แห่ง มีนักเรียนในโครงการ จำนวน 4,074 คน ทั่วประเทศ
โรงเรียนคุณภาพ
โฆษก ศธ.กล่าวว่า ศธ.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ดูแลโรงเรียนกว่า 3.4 หมื่นแห่ง โดย รมว.ศธ.ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับพัฒนาสถานศึกษาเดิมให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งขณะนี้ได้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 10,480 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,155 แห่ง และโรงเรียนพื้นที่ ห่างไกลทุรกันดาร หรือโรงเรียน Stand Alone จำนวน 1,303 แห่ง รวมทั้งสิ้น 12,938 แห่ง
โดยได้เน้นขับเคลื่อนยกระดับเรื่องสำคัญ ได้แก่ เพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้นครบวิชาเอก, มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมกับการดูแลของครูแต่ละชั้นแต่ละห้องเรียน, มีงบประมาณในทุกด้านเพียงพอ,อาคารสถานที่เรียนปลอดภัยมีครุภัณฑ์อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัย,เน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการแข่งขัน และหากเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีงบประมาณและอัตรากําลังครูอย่างเหมาะสม ขณะนี้ได้โรงเรียนคุณภาพที่เป็นโรงเรียนหลักแล้ว จำนวน 183 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงเรียนแต่ละแห่งจะมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นโรงเรียนเครือข่ายครอบคลุมโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด
พาน้องกลับมาเรียน/กศน.ปักหมุด“รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น”
โฆษก ศธ.กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นและออกกลางคันทั้งหมดในทุกสังกัดของ ศธ.(สพฐ./สอศ./สช./กศน.) เหลือเพียง 121,642 คน ซึ่งขณะนี้ติดตามพบตัวแล้ว จำนวน 98,060 คน สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 51,766 คน ไม่ประสงค์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 30,755 คน เนื่องจากสาเหตุ เช่น จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์เข้าเรียนต่อ,อายุพ้นเกณฑ์และไม่ประสงค์จะ เรียนต่อ ความจําเป็นทางครอบครัว ย้ายถิ่นที่อยู่ การคมนาคมไม่สะดวก เสียชีวิต เป็นต้น และส่งต่อหน่วยงานอื่น อาทิ สถานศึกษาพิเศษ-สงเคราะห์ จำนวน 15,539 คน, อยู่ระหว่างการติดตาม จำนวน 5,628 คน,ติดตามแล้วยังไม่พบตัว จำนวน 17,954 คน
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้กำชับหน่วยงานในสังกัด และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาโอบอุ้มดูแลกลุ่มเป้าหมายถึงถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ส่วนใหญ่ขัดสนมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งสำคัญกว่าการพากลุ่มเป้าหมายกลับเข้ามาในระบบการศึกษาแล้ว ผู้บริหาร ครู ตลอดจนประชาชนทุกคนที่เป็นผู้ปกครอง จะต้องดูแล ให้กำลังใจ ส่งเสริม สนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษาอีก โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายต้องกลับเข้าระบบการศึกษาทุกคนภายในปี 2565 นี้
“ทั้ง 5 เรื่อง 5 ความพยายาม 5 นโยบาย 5 ความเต็มใจ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะมอบสิ่งดี ๆ ให้กับนักเรียน รวมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่สถานศึกษาปลอดภัย, การแก้ปัญหาหนี้สินครู, อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ,โรงเรียนคุณภาพ,พาน้องกลับมาเรียน/กศน.ปักหมุด นั้น เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำ อยากให้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวขึ้น ขอบคุณไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงที่ช่วยส่งสารให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานของ ศธ.ที่ทำเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสามารถนำพาประเทศสู่การแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ต่อไป”