สกลนคร คว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ด้วยพืชน้ำมหัศจรรย์แหนเกล็ดทองเมืองสกล
จังหวัดสกลนคร คว้า 3 รางวัลคุณภาพ (เลิศรัฐ) ประจำปี 2565 ด้วยพืชน้ำมหัศจรรย์แหนเกล็ดทองเมืองสกล และยกระดับอาชีพการเลี้ยงแพะสู่ความยั่งยืน
นายวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า จ.สกลนครได้เล็งเห็นสภาพปัญหา การเลี้ยงปศุสัตว์ มีส่วนแบ่งรายได้ไม่สมดุล ผลกำไรส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลางน้ำและปลายน้ำ เป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้เกษตรกรต้นน้ำซึ่งเป็นผู้ผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่ มีส่วนแบ่งรายได้ต่ำที่สุด การลดต้นทุนการผลิต จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเพื่อเป็นการลดต้นทุน จึงได้ส่งเสริมการเลี้ยงแหนเกล็ดทองเมืองสกลขึ้น ซึ่งสามารถตอบโจทย์ และเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับการลดต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ เพื่อให้ส่วนแบ่งรายได้เกิดความสมดุล
ทั้งนี้ นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผวจ.สกลนคร ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้เกษตรกร มอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เร่งแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ของเกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ให้ต้นทุนการผลิตลดลง โดยต้นทุนดังกล่าว เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์เป็นผู้แบกรับภาระ
นายวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร และคณะ ได้พบว่าบริเวณหนองหาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 77,000 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่เหมาะสมและที่สำคัญ ค้นพบแหนที่มีสีเขียวเข้ม กระจายตัวริมฝั่งหนองหารมีจำนวนมาก
โดยเฉพาะบริเวณฝั่งบ้านท่าวัด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อนำไปวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ พบว่ามีปริมาณโปรตีนสูง 20-30 % (Gijzen et al. 1996) สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งโปรตีน ทดแทนหรือลดปริมาณวัตถุดิบหลักลงได้ อัตราการให้ผลผลิต 2.5-3 ตัน/ไร่ ระยะเวลา 3- 5 วัน สามารถขยายตัว 2-3 เท่า นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติพิเศษ ทนทานต่อโรคหนอนแมลงผีเสื้อ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง ต่อพืชตระกูลแหนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อแสงแดดจัด และความเป็นกรดของแหล่งน้ำได้
ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชน้ำมหัศจรรย์แหนเกล็ดทองเมืองสกลอย่างแท้จริง
สำหรับวิธีการเพาะแหนเกล็ดทอง สามารถเพาะทั้ง ในบ่อปูน บ่อพลาสติก หรือแปลงนา เกษตรกรสามารถปรับไปใช้ตามความเหมาะสม โดยเติมน้ำให้มีความลึก 40-50 เซนติเมตร หลังจากนั้นเติมปุ๋ยจาก มูลโค กระบือ สุกร และพบว่ามูลไก่ไข่ ทำให้แหนมีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุด หลังจากนั้นปล่อยแหนพ่อ-แม่พันธุ์ ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้ การใช้ประโยชน์จากแหนสามารถ ใช้แหนสดผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น อาหารสำเร็จรูป รำ อื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ได้มากกว่า 20- 30% เกษตรกรบางรายที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ สามารถลดต้นทุนได้มากถึง 50%
ที่ผ่านมาสำนักงานปศุสุตว์จังหวัดสกลนคร จึงเร่งส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรได้การใช้ประโยชน์จากแหน โดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ทุกอำเภอ ได้เพาะเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์แหน เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรที่มีความสนใจ นำไปเพาะเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ปลูกแหนมากกว่า 24,000 บ่อ
ด้วยคุณสมบัติพิเศษและความมหัศจรรย์ของแหน ที่มีคุณลักษณะคล้ายเกล็ดปลา เมื่อแสงแดดกระทบสาดส่องบริเวณผิวใบ ทำให้เกิดแสงสะท้อนสีทองระยิบระยับสวยงาม และที่สำคัญพบที่บริเวณริมฝั่งหนองหาร จังหวัดสกลนคร
จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นคุณูปการสำหรับวงการปศุสัตว์ ว่า “แหนเกล็ดทองเมืองสกล”
ปี พ.ศ. 2565 จังหวัดสกลนคร โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ได้นำเสนอโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแหนเกล็ดทอง และโครงการนำแหนเกล็ดทองไปส่งเสริมให้เอกชนเลี้ยงแพะจนเป็นต้นแบบต่อคณะกรรมการพัฒนาระบราชการ (กพร.) ประจำปี 2565 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการปรากฏว่า สามารถคว้า 3 รางวัลคุณภาพ ได้แก่ รางวัลคุณภาพกรมปศุสัตว์ DLD Quality award ได้รับรางวัลดีเด่น ผลงาน “แหนเกล็ดทองเมืองสกล” พืชน้ำมหัศจรรย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารสัตว์ลดต้นทุนยุค 4.0 รางวัลเลิศรัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ผลงาน“แหนเกล็ดทองเมืองสกล พืชน้ำลดต้นทุน”
และได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ผลงาน การยกระดับอาชีพการเลี้ยงแพะเนื้อจังหวัดสกลนครสู่ความยั่งยืน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นี้คือรางวัลคุณภาพขององค์กรราชการของจังหวัดสกลนคร
/////////////// วัฒนะ แก้วก่า / สกลนคร 081-9541528