“ศาลฎีกาพิพากษา” ให้ กรมป่าไม้ปรับปรุงแก้ไข”หาดมาหยา”
ให้กลับคืนสภาพเดิม
จากกรณีที่ บริษัททเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ฯ นำกองถ่ายต่างชาติ ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ จนกระทบจนยับ
วันนี้ (13 ก.ย.) ศาลแพ่ง นัดฟังคำพิพากษาฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ โจทก์ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ โจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 19 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง
รมว.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2
อธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3
บริษัทซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มฯ จำเลยที่ 4
บริษัททเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ฯ จำเลยที่ 5 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง ความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรณีเมื่อปี 2541 ได้มีการอนุมัติให้บริษัททำถ่ายภาพยนตร์ เรื่อง เดอะบีช เข้าไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยาบนเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเล จ.กระบี่ เพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิม โจทก์จึงขอให้มีคำพิพากษาให้คำสั่งจำลยที่ 1-3 ที่อนุญาตจำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์เป็นโมฆะ ให้จำเลยร่วมกันวางเงินประกันค่าความเสียหาย หากจำเลยไม่วางเงินขอให้ศาลมีคำสั่งกระทำการใดๆ เพื่อตกแต่งอ่าวมาหยา ขอให้จำเลยที่ 1-3 เพิกถอนใบอนุญาตจำเลยที่ 4-5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ และขอให้จำเลยร่วมกันปรับปรุงแก้ไขสภาพชายหาดมาหยา กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ
โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้พิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยให้จำเลยที่ 2 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยา ประกอบด้วยโจทก์ที่ 1-2 ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งในคดีนี้ และผู้แทนจากภาคเอกชนตามที่จำเลยที่ 2 เห็นสมควรภายใน 30วันนับแต่วันอ่านคำพิพากษา เพื่อเสนอแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาต่อศาลเพื่อพิจารณาการปฏิบัติตามแผนของคณะทํางาน
สำหรับจำเลยที่ 4-5 ให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 ก.พ.62 ซึ่งตามสัญญานั้น จำเลยที่ 5 ประสงค์และยินดีจะอำนวยการช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1-2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด
ส่วนนจําเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้น
ต่อมา โจทก์ที่ 1-2 ยื่นฎีกา โดยคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปว่า ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้จนกว่าหาดมาหยามีสภาพเดิมตามธรรมชาติตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาเห็นชอบร่วมกัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควรในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าวไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้การปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกา ให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะถูกบังคับตามคำพิพากษาตามขั้นตอนกฎหมาย