สช.-สสวท.พัฒนาครูจัดการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตและเทคโนโลยี
วันนี้ (4 กันยายน 2565) เวลา 08.30 น. ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางเยาวภา จงพัฒนกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาบุคลากร กลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา คณะวิทยากร ครูผู้เข้ารับการอบรม และคณะผู้จัดการอบรมเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. จำนวน 360 โรง โดยได้จัดปฐมนิเทศโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ อบรมพัฒนาผู้บริหารเพื่อเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และอบรมครูหลักสูตรพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนและการเลือกใช้สื่อการสอน สำหรับครูผู้สอนวิชวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านระบบออนไลน์ไปแล้วนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะพื้นฐานที่ดี
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล
กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญมากล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ในวันนี้
ตามที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้นักเรียนมีโอกาสได้เข้าถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของตนเอง นักเรียนได้รับการพัฒนาจนมีความสามารถและมีทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 รวมทั้งพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามแนวทางของ สสวท. การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. จำนวนรวมทั้งสิ้น 300 คน ให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อไป สสวท. ขอขอบคุณคณะผู้ดำเนินการจัดอบรม ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมในการจัดการอบรม และขอขอบคุณครูทุกท่านที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางการศึกษาที่จะได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของท่านได้ต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยครูระดับประถมศึกษา ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ 100 คน วิชาคณิตศาสตร์ 100 คน และวิชาเทคโนโลยี 100 คน รวมทั้งสิ้น 300 คน พร้อมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา และโรงเรียนสทิงพระวิทยามาเป็นวิทยากรการอบรม ฯ ในครั้งนี้