ดีตส.ส.ร. 2540 “บุญเลิศ”อยากเห็นศาลรธน.ใช้กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีประยุทธ์ 8 ปีนั่งเก้าอี้นายกฯ ค้นหาความจริงอย่างเต็มที่ก่อนวินิจฉัย เปิดให้คู่กรณี “ฝ่ายร่วมฝ่ายค้านกับประยุทธ์” พยานและผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายมาให้ถ้อยคำต่อหน้าศาลรธน. เผยเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชน เกิดความเชื่อมั่นต่อศาลรธน.
30 สิงหาคม 2565 นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 โพสต์ในเพจ เฟซบุ๊คส่วนตัวแสดงความเห็นว่า การพิจารณาคดีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีรครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ หากกระบวนการไต่สวนโดยให้ผู้ร้องคือพรรคร่วมฝ่ายค้านและผู้ถูกร้อง คือพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งพยานของทั้งสองฝ่ายมาให้ถ้อยคำ ให้คู่ความซักถามพยานและถามค้านต่อหน้าศาลก็จะเป็นส่ิงที่ดี ขณะเดียวกันศาลรธน.สามารถซักถามประเด็นต่างๆได้เพื่อให้เกิดความชัดเจน
นายบุญเลิศกล่าวว่า ศาลรธน.มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลรธน.พิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วเห็นว่า “ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง”
ซึ่งแม้ว่าเอกสารประกอบคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีรายละเอียดหลายหน้ากระดาษ เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักกับคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ การพิจารณาแต่เพียงเอกสารอย่างเดียวอาจไม่ครบถ้วน ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรธน.พ.ศ. 2561 มาตรา 27 บัญญัติให้ศาลรธน.พิจารณาคดีด้วยระบบไต่สวนเพื่อค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท โดย ศาลรธน.มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำก็ได้ ก็ชอบที่ศาลรธน.จะใช้การไต่สวนโดยกำหนดประเด็นอันจะนำไปสู่ความกระจ่างแจ้งก่อนการจะมีคำวินิจฉัย ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆได้ออกมาแสดงความเห็นและอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ควรจะให้บุคคลเหล่านี้มาให้ถ้อยคำตามแต่ศาลรธน.จะเห็นสมควร
“ในอดีตเมื่อปี 2544 ศาลรธน.เคยใช้ระบบไต่สวนกรณีปัญหาการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายทักษิณ ชินวัตรหรือที่เรียกกันว่า คดีซุกหุ้น ที่ป.ป.ช.ยื่นคำร้อง เป็นคดีใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นที่มาของวลี”บกพร่องโดยสุจริต” กระบวนการไต่สวนของ 2 ฝ่ายต่อหน้าศาลรธน. คู่ความซักถามพยาน และถามค้านได้เต็มที่ ทำให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียดก่อนจะไปที่ศาลรธน.มีมติ 8 ต่อ 7 นายทักษิณไม่ได้กระทำผิดตามที่ป.ป.ช.ยื่นคำร้อง
กรณีปม 8 ปีนายกฯประยุทธ์ก็เช่นกัน ระบบการไต่สวนจะคลายความสงสัยได้อย่างดี ที่สำคัญประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการพิจารณาคดีด้วยการไต่สวนที่มีคุณค่า เข้าใจเรื่องการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของศาลรธน. ซึ่งไปหาจากที่ไหนไม่ได้ นอกจากได้เห็น ได้ยินไ้ด้ฟังของจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้า”
อดีตส.ส.ร. 2540 กล่าวทิ้งท้ายว่า ปมเงื่อนการนับอายุการเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์จะเริ่มเมื่อใดนั้น มีความเกี่ยวข้องกับรธน. 2560 หลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 158 วรรคสี่, มาตรา 170 วรรคสอง, มาตรา 264 บทเฉพาะกาล จะตีความตามตัวอักษรหรือตามเจตนารมณ์ มีความเชื่อมโยงไปถึงรธน. 2550 การที่ป.ป.ช.แจ้งว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯเมื่อปี 2562 เนื่องจากเคยยื่นไว้แล้วเมื่อตอนเป็นนายกฯปี 2557 เป็นต้น