เปิดปฏิบัติการ “สยบขบวนการขายรถหลุด
ป้ายปลอม เล่มผี ภาษีเก๊” เข้าค้น 14 จุดทั่วประเทศ
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป.
พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป.,พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป.,พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป.,พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง
รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงษ์พิทักษ์ เหล็กชูชาติ รอง ผกก.3 บก.ป. พ.ต.ท.อภิมัณฑ์ บานชื่น รอง ผกก.3 บก.ป.พ.ต.ท.ณัฐดนัย สีแข่ไตร รอง ผกก.3 บก.ป. และพ.ต.ท.ศิษฏ์ พูลวงศ์ รอง ผกก.3 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.สุวิจักษณ์ รัตนพันธ์ สว.กก.3 บก.ป., ร.ต.อ.ปองธรรม ปองไป รอง สว.กก.3 บก.ป., ร.ต.อ.ธนทร ทองแกมแก้ว รอง สว.กก.3 บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย
1. นายภาสวัฒน์ ฯ อายุ 48 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4103/2568 ลง 16 กรกฎาคม 2568 ซึ่งต้องหากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ”
2. นายถิรวิทย์ ฯ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4101/2568 ลง 16 กรกฎาคม 2568 ซึ่งต้องหากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ”
สถานที่จับกุม ต.ลำพยา อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม และแขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ตรวจยึดของกลาง จำนวน 42 รายการ
1. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 6 เครื่อง
2. รถยนต์ จำนวน 8 คัน
3. ป้ายเสียภาษีประจำปี จำนวน 6 แผ่น
4. ป้ายทะเบียน จำนวน 5 แผ่น
5. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 17 รายการ
สืบเนื่องจากการที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้คิดค้นและผลักดันการนำ ระบบตรวจจับและอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ (License Plate Recognition System) นำมาใช้สนับสนุนภารกิจของตำรวจทางหลวง ส่งผลให้สามารถตรวจจับรถต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถตรวจพบรถต้องสงสัยจำนวนมาก และนำไปสู่การจับกุมคดีสำคัญหลายคดี
ซึ่งจากการนำระบบดังกล่าวมาใช้งานจริง ปฏิบัติการครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงจังหวัดนครราชสีมาได้ตรวจยึดรถยนต์ BMW ต้องสงสัยคันหนึ่งบนถนนมิตรภาพ ซึ่งมีเอกสารทะเบียนปลอม จากการสอบสวนผู้ขับขี่คือนางนงนุช ฯ ทำให้กองบังคับการปราบปราม เริ่มขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แกะรอยจากโซเชียลมีเดียสู่การล่อซื้อ
จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าวถูกซื้อมาจาก เพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “เฮียอ๊อด” เป็นเพจ ซื้อ-ขายรถยนต์ผิดกฎหมาย จากการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดในเฟซบุ๊กชื่อ “เฮียอ๊อด” ข้างต้น พบว่าเป็นเพจเฟซบุ๊ก ที่เปิดในสื่อสังคมออนไลน์ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเป็นเพจซื้อ-ขายรถยนต์
น่าเชื่อว่าผิดกฎหมาย
เนื่องจากว่าราคารถยนต์ มีราคาถูกกว่าท้องตลาดเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้สายลับแฝงตัวเข้าไป สมัครเป็นเพื่อนกับเพจ เฟซบุ๊ก “เฮียอ๊อด” เพื่อติดต่อล่อซื้อเอกสารราชการกรมการขนส่งทางบกปลอม
จากการล่อซื้อแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีปลอมผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “เฮียอ๊อด” โดยสายลับได้ติดต่อขอซื้อและชำระเงินค่าดำเนินการจำนวน 2,500 บาท ทางเพจยืนยันว่าจะจัดส่งเอกสารภายใน 1 สัปดาห์ ภายหลังเมื่อได้รับพัสดุและทำการตรวจสอบ พบว่าชื่อผู้จัดส่งพัสดุและบุคคลที่นำส่งตรงกับข้อมูลของ นายถิรวิทย์ ฯ ซึ่งมีประวัติอาชญากรรมเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารและยาเสพติด และเมื่อนำแผ่นป้ายภาษีไปตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบก ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็น “เอกสารปลอม” เนื่องจากหมายเลขคุมภาษีดังกล่าวไม่เคยถูกผลิตขึ้นจริง
จากการเครือข่ายอาชญากรรมระดับชาติ ขบวนการนี้ไม่ได้เป็นเพียงการซื้อขายรถยนต์และปลอมเอกสารทั่วไป แต่มีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมร้ายแรงระดับประเทศ เช่น กรณีล่าสุดที่ตำรวจภูธรภาค 8 ตรวจยึดรถกระบะซึ่งใช้ลักลอบขนระเบิด และตรวจสอบพบว่าเป็นรถที่ถูกซื้อขายในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มวางระเบิดในพื้นที่ภาคใต้
จากการประเมินพบว่า เงินหมุนเวียนในเครือข่ายดังกล่าวมีมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี สะท้อนถึงความเสียหายเชิงระบบ และความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมระดับประเทศอย่างน่ากังวล การปลอมแผ่นป้ายภาษีเพียงวันละ 3 แผ่น สามารถสร้างรายได้ถึง 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายใหญ่มีรายได้หมุนเวียนปีละ 40-50 ล้านบาท และประเมินว่าเงินหมุนเวียนในเครือข่ายทั้งหมดมีมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ออกหมายจับจำนวน 2 หมาย และหมายค้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการ ทั้งเจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่รับปลอมแปลงเอกสารราชการ ผู้จัดส่งแผ่นป้ายภาษีปลอม กลุ่มผู้ซื้อรถหลุดจำนำหรือรถที่ใช้ทะเบียนปลอม ตลอดจนกลุ่มผู้ซื้อแผ่นป้ายภาษีปลอมและบุคคลอื่นในเครือข่าย
และล่าสุด กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้เปิดปฏิบัติการ “CIB สยบขบวนการขายรถหลุด ป้ายปลอม เล่มผี ภาษีเก๊” สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมกว่า 50 นาย ลงพื้นที่ตรวจค้นทั้งหมด 14 จุดทั่วประเทศ ในเขตจังหวัดนครปฐม, กรุงเทพมหานคร, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, ยโสธร, นครพนม, อุบลราชธานี, นครราชสีมา และสุรินทร์
เป้าหมายเพื่อจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ คือ นายภาสวัฒน์ ฯ และนายถิรวิทย์ ฯ พร้อมตรวจยึดพยานหลักฐาน และซักถามบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าว ผลการตรวจค้นสามารถยึดของกลางได้หลายรายการ ได้แก่ รถยนต์จำนวน 8 คัน, โทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง, แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปี
5 แผ่น, แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 5 แผ่น และเอกสารอื่น ๆ รวมกว่า 42 รายการ จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งดำเนินการขยายผลอย่างต่อเนื่อง
จากการสอบสวนเบื้องต้น นายถิรวิทย์ฯ ยอมรับว่าเป็นผู้ทำการปลอมแปลงแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ รายได้หลักมาจากการผลิตและจัดส่งแผ่นป้ายปลอม สร้างรายได้สูงเกือบหนึ่งล้านบาทต่อปี
และนายภาสวัฒน์ฯ ให้การรับว่า ขายรถหลุดจำนำผ่านเพจ “เฮียอ๊อด” และ “เสี่ยบัง ยอดแหลม” โดยทราบว่าเป็นรถผิดกฎหมาย และมีส่วนร่วมขายแผ่นป้ายภาษีปลอม ได้ส่วนแบ่งคันละ 2,000–5,000 บาท และแผ่นละ 200–300 บาท
จากพฤติการณ์ทั้งหมด พบว่าขบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรรมที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นความผิดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
จากการสอบสวนเบื้องต้น ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
เตือนภัย จากปฏิบัติการดังกล่าวเห็นถึงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์จากช่องทางผิดกฎหมาย โดยมีทั้งผู้จัดทำ ผู้ขาย และผู้จัดส่ง ซึ่งร่วมมือกันเป็นเครือข่ายอาชญากรรมอย่างเป็นระบบ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนพี่น้องประชาชนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความคิดจะหารายได้ทางลัด ด้วยการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ หรือแม้แต่ผู้ที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ราคาถูกที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย ทุกคนล้วนมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น ผู้ที่ผลิตและจำหน่ายเอกสารปลอมถือว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงและใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนผู้ซื้อ แม้อ้างว่าไม่รู้ว่าเอกสารปลอม ก็อาจมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม หรือในบางกรณีอาจเข้าข่ายรับของโจร ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถได้ เสียทั้งเงินและอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ชักชวนให้ซื้อรถราคาถูกผิดปกติ หรือหลงเชื่อคำว่า “รถหลุดจำนำ” ที่มักมาพร้อมกับเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการเลือกเดินทางลัดอาจนำไปสู่การติดคุกโดยไม่รู้ตัว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่มีใครตรวจสอบ เพราะเมื่อใดที่มีการใช้งานจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการตั้งด่านตรวจหรือเมื่อต้องการใช้เอกสารจริงในการต่อภาษี เปลี่ยนเจ้าของ หรือมีเหตุให้ต้องตรวจสอบ ย่อมมีความเสี่ยงทันที
ภัยเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อบุคคล แต่ยังสร้างความเสียหายต่อระบบไฟแนนซ์ในประเทศ ที่ต้องแบกรับหนี้เสียจากการผ่อนรถยนต์ปีละหลายแสนล้านบาท ขายทอดตลาดก็ได้ราคาต่ำกว่าหนี้คงค้าง เกิดความสูญเสียสะสมในระบบนับหมื่นล้านบาท
ขอย้ำเตือนว่า “ทางลัด” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีทางนำพาไปสู่ความมั่นคงหรือมั่งคั่งได้อย่างแท้จริง มีแต่จะสร้างภาระทางคดีและความเสียหายในภายหลัง ขอให้ทุกคนร่วมกันใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้อง
ไม่สนับสนุนสิ่งผิดกฎหมาย และแจ้งเบาะแสหากพบการกระทำลักษณะนี้ เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้ขบวนการอาชญากรรมเหล่านี้ขยายตัวในสังคมอีกต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ต.สุวิจักษณ์ รัตนพันธ์ สว.กก.3 บก.ป. โทร.0640856156
“การเผยแพร่ข่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน
ให้รู้เท่าทันภัยอันตรายรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้เป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด