“คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” จุดเริ่มต้นของห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงโลก
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแนะนำการใช้ “คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและร่วมขับเคลื่อนความรู้ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ระบบการศึกษาไทย
รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมฯ
ให้เกียรติเป็นประธานในพิธิเปิดและเปิดเผยถึงเป้าหมายของคู่มือฯ ว่า ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือเรียนทั่วไป แต่เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนครูในการเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ Carbon Neutrality Campus (CNC) ซึ่งริเริ่มโดยคณะสิ่งแวดล้อมฯ ด้วยทุนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ (Joint Unit) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับนานาชาติ ได้แก่ UNESCAP และ Shanghai Jiao Tong University โดยปัจจุบันมีเครือข่ายร่วมมือจากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุดโครงการ CNC ได้ขยายผลลงสู่ระดับโรงเรียน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเยาวชนคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในระยะยาว และการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นกลางทางคาร์บอน ควรเริ่มตั้งแต่วัยเรียน โดย “คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนด้านนี้อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย คู่มือฯฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาครอบคลุม 8 บทเรียนสำคัญ ได้แก่ความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ก๊าซเรือนกระจก, แนวคิดวัฏจักรชีวิต, คาร์บอนฟุตพริ้นท์, การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยภายในคู่มือมีรายละเอียดที่ช่วยให้ครูสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่นจุดประสงค์ของบทเรียน สาระสำคัญ แนวทางการจัดการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรม แบบทดสอบ และแนวทางการวัดและประเมินผล พร้อมแหล่งอ้างอิงและช่องทางสำหรับการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติม
คณะผู้จัดได้เชิญชวนโรงเรียนเครือข่ายทุกแห่งร่วมกันสะท้อนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือแบ่งปันภาพกิจกรรมที่ใช้คู่มือฉบับนี้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียนอื่นๆในเครือข่ายที่ต้องการเริ่มต้นแนวทางเดียวกัน
พร้อมกันนี้ ได้มีการประกาศแนวคิด “School Living Lab” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้และทดลองแนวทางการลดคาร์บอนในระดับโรงเรียน โดยมีแผนที่จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมชมโรงเรียนต้นแบบ
ร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้