ปอท.ฝากขัง 5 ผู้ต้องหาคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตือนต้องการกู้ผ่านสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือปลอดภัยกว่า
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. ร.ต.อฐานันดร สาสูงเนิน รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท.พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.เบิกตัวผู้ต้องหา 5 คนในคดีกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้ หลอกผู้เสียหาย ก่อนนำเงินออกนอกประเทศให้หัวหน้าขบวนการชาวต่างชาติ จากห้องควบคุมผู้ต้องขัง บช.ก.ไปฝากขังศาลอาญา
สำหรับคดีนี้ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท.
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.เปิดเผยว่า บก.ปอท.จับกุมผู้ต้องหา 5 คน พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 51 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร 63 เล่ม คอมพิวเตอร์ 8 เครื่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์ 220 รายการ เครื่องรูดบัตรเครดิจ 9 เครื่อง เอกสารและของกลางอื่น ๆ อีกหลายรายการ โดยตรวจยึดได้จากบ้านพัก 5 จุด ในพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังตำรวจสอบสวนกลาง สืบทราบว่า กลุ่มผู้ต้องหา สร้างเว็บไซต์ แอบอ้างเป็นบริษัท เคทีซี นาโน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หลอกลวงผู้เสียหายว่าจะปล่อยเงินกู้ เมื่อมีผู้หลงเชื่อ กลุ่มผู้ต้องหาจะติดต่อกลับผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ โน้มน้าวให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าประกันเงินกู้ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อน แต่ผู้เสียหายกลับไม่ได้รับเงินกู้ตามที่ตกลงกันไว้ สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก
จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งการจัดการบัญชีม้า เพื่อใช้รับเงินจากผู้เสียหาย และนำส่งให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง ทำหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ก่อนนำเงินไปให้หัวหน้าขบวนการที่เป็นชาวต่างชาติ เบื้องต้น ตำรวจได้แจ้งข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ในฐานะโฆษก บก.ปอท.กล่าวเตือนประชาชน ว่า หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรขอยื่นกู้ผ่านสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือ หากมีการโฆษณาให้กู้เงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือในเว็บไซต์โดยใช้ชื่อสถาบันการเงินหรือบริษัทที่มีชื่อเสียง ควรตรวจสอบด้วยการโทรศัพท์สอบถามยังสถาบันการเงินหรือบริษัท นั้นๆ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ที่สำคัญ หากยื่นกู้ไปแล้ว มีการเรียกเก็บเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้และให้ผู้ขอกู้โอนเงินไปให้ก่อน เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าดอกเบี้ยเริ่มต้น ค่าตรวจสอบเครดิตบูโร ฯลฯ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ อีกทั้งส่วนใหญ่บัญชีที่รับโอนเงินจากเหยื่อจะเป็นบัญชีชื่อบุคคลธรรมดา มิใช่ชื่อบัญชีธนาคาร หรือบริษัท ตามที่กล่าวอ้าง
หากพี่น้องประชาชน มีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 หรือหากตกเป็นเหยื่อคนร้าย สามารถแจ้งความออนไลน์ผ่านทาง www.thaipoliceonline.com หรือ สายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง