บก.ปคบ. ยัน แชค-เมย์ เคยถูกดำเนินคดี
จากกรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. เพื่อกล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับบริษัทแห่งหนึ่ง (Primaya) และบุคคลอื่นๆ ซึ่งใช้ข้อความอันเป็นเท็จอ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท ตามความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงระบุว่าบริษัทดังกล่าวเคยถูกบริษัทดังกล่าวยังเคยถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินคดีในเรื่องการขายยาลดน้ำหนักที่มีการใส่สารต้องห้ามนั้น
ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายของพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ได้เน้นย้ำสั่งการให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออันตรายของพี่น้องประชาชน ซึ่งตามปกติทางบก.ปคบ.จะทำการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนและการสืบสวนโดยกรณีดังกล่าวว่า เป็นการตรวจสอบตามปกติ ซึ่งหากมีการทำการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาลดน้ำหนักทางออนไลน์ ทาง บก.ปคบ. จะทำการล่อซื้อเพื่อนำมาตรวจสอบอยู่แล้ว
โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ทำการล่อซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทพรีมายาผ่านทางเฟซบุ๊ก จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดตรวจเบื้องต้น ก็พบว่ามีสารต้องห้าม จึงได้ขอหมายค้นเข้าตรวจค้นบริษัทที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจยึดผลิตภัณฑ์ และส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 และได้รับแจ้งผลตรวจว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ต่อมาทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานการขออนุมัติศาลสมุทรปราการออกหมายจับกรรมการบริษัท 2 ราย คือน.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ (เมย์) หมายจับที่ 290/2565 ลง 30 พ.ค. นายสิทธานต์ สรรเสริญ (แซค) หมายจับที่ 291/2565 ลง 30 พ.ค. ในข้อหา ” ร่วมกันจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต” และขอหมายค้นบ้านของกรรมการบริษัท และบริษัทที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา และสามารถจับกุมกรรมการทั้ง 2 รายได้ที่บ้านพัก
อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนทั้งสอง ให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม โดยอ้างว่าเป็นการว่าจ้างโรงงานแห่งหนึ่งทำการผลิต (บริษัท คอสมา แล็ป) นอกจากนี้ยังได้เข้าตรวจค้นบริษัทครั้งที่ 2 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 2 ไม่พบว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีนแต่อย่างใด กระทั่งวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จึงเข้าค้นโรงงานที่ทำการผลิต 2 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ทำการผลิตส่งกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ตรวจสอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางบริษัทพรีม่าไม่ได้ทำการว่าจ้างบริษัทดังกล่าวให้ทำการผลิตแต่อย่างใด ส่วนเรื่องคดีความนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นทางคดี อย่างไรก็ดีสำหรับสารไซบูทรามีน จะมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกหิว
///////