พร้อมรับมือฤดูกาลท่องเที่ยว กรมอุทยานฯ ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ติดตามภารกิจด้านการกู้ชีพ กู้ภัยและแผนเผชิญเหตุในอุทยานแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอุทยานแห่งชาติ และวนอุทยานทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายสุธีรพันธ์ สวัสดิ์กุลดิลก ผอ.ส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม กล่าวหลังนำคณะลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ ว่า เป็นการมาติดตามการซ้อมการกู้ชีพ กู้ภัย ในอุทยานฯ และวนอุทยาน โดยมี น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน และน.ส.ชลกร ช่วยเชื้อสาย หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมการฝึก ซึ่งกรมอุทยานฯ มีมาตรการด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภารกิจหลักประกอบด้วย 1) การพัฒนาและทบทวนความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 2) การพัฒนาและจัดหาเครื่องมือ/อุปกรณ์ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และ 3) การกำหนดแนวทาง/มาตรการด้านความปลอดภัย ให้อุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน นำไปปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันภัย
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ มีศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ
กระจายอยู่ตามภูมิภาค 7 ศูนย์ คือ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ตราด กาญจนบุรี ภูเก็ต และสตูล
“กรมอุทยานฯ คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จึงจัดฝึกอบรมการกู้ชีพกู้ภัยและแผนเผชิญเหตุมาตั้งแต่ปี 61 ภายใต้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) โดยมี 7 ศูนย์ดูแลนักท่องเที่ยวใน 155 อุทยานแห่งชาติและ 15 อุทยานฯเตรียมการ มีรถแอมบูแลนซ์ 155 คันประจำในทุกอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการฝึกฝนช่วยเหลือชีวิต จึงขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยและสวัสดิภาพเมื่อมาท่องเที่ยวอุทยานฯ และขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติในอุทยานฯทั่วประเทศ ทั้งนี้ฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเลจะเริ่มในวันที่ 15 พ.ย. ส่วนทางบก กรมอุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมตลอดทั้งปี” นายสุธีรพันธ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ชลกร กล่าวเสริมว่า ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 7 ศูนย์ มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานกับชุดกู้ภัยประจำอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการฝึกซ้อมการกู้ชีพ กู้ภัย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่อุทยานแห่งชาติได้รับการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เช่น รถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อกู้ชีพฉุกเฉิน รวมถึงการให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุของอุทยานฯทั้ง 155 แห่ง เพื่อให้เกิดทักษะและเข้าใจขั้นตอนในการปฏิบัติงาน รองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลวันหยุดยาว ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติจะจัดตั้งศูนย์ให้บริการ ดูแล อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและประชาชน ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในช่วงเกิดภัยธรรมชาติ อุทกภัย ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางสัญจร เจ้าหน้าที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก อพยพคน นำอาหาร และเครื่องยังชีพไปส่งตามบ้านที่ประสบภัย และสำหรับศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่อุทยานฯ 34 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ที่ผ่านมามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ หลงป่า และการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ/ผู้เสียชีวิต ออกจากพื้นที่ป่า ดังนั้น นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ว่าเมื่อมาท่องเที่ยวอุทยานฯ ทุกคนจะได้รับการบริการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี หากได้รับบาดเจ็บ จะได้รับการช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วรวมถึงการส่งต่อโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที.
ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ข่าว/ภาพ