รองผู้ว่าฯนครปฐม เปิดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาด
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จังหวัดนครปฐม นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดงานโครงการแสดงนิทรรศการผลงานยกระดับมาตรฐานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as a Marketplace) โดยมีอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้กล่าวต้อนรับ และรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว รศ.ดร. เอกราชันย์ ไชยชนะ ผศ.ดร. อุมาพร อาลัย ผศ.ดร. ธนัญญา เสาวภาคย์ ผศ.ดร.อดิศักดิ์ จตุรพิรีย์ ผศ.ดร.กัญจน์รัตน์ สุขรัตน์ อาจารย์ ดร. กัญญา สอนสนิท อาจารย์ ดร.จันจิรา จรามรบูรพงศ์ อาจารย์เก่งกาจ ต้นทองคำ อาจารย์กฤติยา แก้วสะอาด อาจารย์ศิริญญา อารยะจารุ อาจารย์อุษา พันฤทธิ์ดำ พัฒนาการจังหวัดนครปฐม พาณิชย์จังหวัดนครปฐม พาณิชย์จังหวัดในภูมิภาคตะวันตก ผู้ประกอบการ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ดำเนินการขับเคลื่อนงานโครงการฯ ดังกล่าว
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครปฐม และพาณิชย์จังหวัดในภูมิภาคตะวันตก ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as a Marketplace) เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยการดำเนินการที่ผ่านมาได้มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 99 ผู้ประกอบการ ได้มีการสัมภาษณ์และคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 25 ผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงนำมาพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยได้นำโจทย์วิจัยไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ การแก้ไขปัญหาในผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยหลากหลายประเภท หลากหลายลวดลาย และนำไปสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผลิตภัณฑ์ จำนวน 25 ผลิตภัณฑ์ สำหรับการจัดโครงการแสดงนิทรรศการผลงานฯ ดังกล่าว มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างอาจารย์ และผู้ประกอบการ จำนวน 25 ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์
2. ผ้า และเครื่องแต่งกาย จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์
3. ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์
4. สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์
จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม
สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์เยลลี่จากมะขามแดง 2. ผลิตภัณฑ์โรตีกรอบจากมันเทศ 3. ผลิตภัณฑ์ทอดมันเห็ดผสมผักโขม 4. ผลิตภัณฑ์คุกกี้สิงคโปร์จากแป้งข้าวไรซ์เบอรี่ 5. ผลิตภัณฑ์ข้าวคั่วสมุนไพร รสลาบ 6. ผลิตภัณฑ์ซุปหัวปลีพรีไบโอติกส์พร้อมบริโภค 7. ผลิตภัณฑ์ปลาร้าผง 8. ผลิตภัณฑ์กัมมี่ว่านหางจระเข้ 9. ผลิตภัณฑ์พริกแกง พร้อมปรุง 10. ผลิตภัณฑ์ไวน์ฝรั่ง 11. ผลิตภัณฑ์ไวน์แห้ว 12. ผลิตภัณฑ์หมี่เตี๊ยวสำเร็จรูป
ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ผ้าจกไท-ยวน 2. ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือลาวครั่งศรีอุทุมพร 3. ผลิตภัณฑ์ผ้าจกวิสาหกิจชุมชนชนัยพร 4. ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผ้าด้นมือสีธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ - ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับทำมือ 2. ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้านฤมล 3. ผลิตภัณฑ์กระเป๋าตุ๊กตา 4. ผลิตภัณฑ์ดินเผาตำนานศิลป์
ผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ - ผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้งผสมทองคำ 2. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า 3. ผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพรชะคราม 4. ผลิตภัณฑ์ยาหม่องสมุนไพร 5. ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะรุม
ภายในงานโครงการแสดงนิทรรศการผลงานฯ นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธาน ในพิธีฯ ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานเจ้าภาพร่วมจัดงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สำนักงานพัฒนาชุมชน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในเขตจังหวัดภูมิภาคตะวันตก คณาจารย์ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น
นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีฯ กล่าวว่าโครงการนี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดนครปฐมคือ 1. ยกระดับรายได้ของประชาชนในจังหวัด ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 2. การพัฒนาระดับพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญรองรับการขยายตัว และสนับสนุนการขยายความเจริญของเมืองหลวง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as a Marketplace) ภายใต้ยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในปี 2565 มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดนครปฐม ในเรื่องการยกระดับรายได้ของประชาชนในจังหวัด ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และต้องขอชื่นชมโครงการนี้ซึ่งมีความร่วมมือขับเคลื่อนแบบประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล คือ มีการร่วมกันดำเนินโครงการใน 3 ภาคส่วน กล่าวคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือผู้ประกอบการ OTOP ในภูมิภาคตะวันตก ราชการส่วนภูมิภาค คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งเป็นกลไกการพัฒนาที่เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้มีการพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สอดคล้องกับผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตกมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้ต่อไป