กองปราบรวบหนุ่มปลอมใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรับออกแบบบ้านบนโซเชียล จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อจ้างงานจริง
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป.
พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงษ์พิทักษ์ เหล็กชูชาติ รอง ผกก.3 บก.ป.,
พ.ต.ท.ณัฐดนัย สีแข่ไตร รอง ผกก.3 บก.ป และพ.ต.ท.ศิษฎ์ พูลวงศ์ รอง ผกก.3 บก.ป
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.อาธิรัตน์ ทิพย์เจริญ สว.กก.3 บก.ป., ร.ต.อ.รังสิมันตุ์ ตันจริง
รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชป.2 กก.3 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม นายเอกฯ อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 93/2568 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2568 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์”
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้าน ซ.แจ้งวัฒนะ 12 แยก 4-1-2 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 07.30 น.
สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือน มีนาคม 2568 ผู้เสียหาย ซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ถูกหนุ่มปลอมใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรับจ้างงานควบคุมงานก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย และเนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาส่งผลต่อความปลอดภัยต่อประชาชน ทั้งรับจ้างออกแบบบ้านและที่อยู่อาศัย ควบคุมและตรวจงานโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกร จึงได้มาร้องขอให้ทางกองบังคับการปราบปราม ติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ มาดำเนินคดี
เนื่องจากผู้เสียหายได้ว่าจ้างวิศวกรเพื่อควบคุมงาน ที่ได้โพสต์หางานในกลุ่มเฟซบุ๊ก “สมัครงานสถาปนิก-วิศวกร-โฟร์แมน-คอนซัล-เฮดแมนและช่างฝีมือทุกสาขา” ผู้เสียหายจึงได้ติดต่อจ้างงานควบคุมก่อสร้าง
โดยผู้ต้องหาได้ส่งภาพใบประกอบวิชาชีพมาให้ผู้เสียหายดูและหลงเชื่อว่าเป็นวิศวกรจริง จึงนัดผู้ต้องหาเข้าไปพบกับเจ้าของบ้านที่ไซต์งานก่อสร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งงานดังกล่าวผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ต่อมาผู้เสียหายได้ว่าจ้างให้ผู้ต้องหาตรวจงานเพิ่มเติมอีก 2 หลัง
โดยครั้งนี้ผู้เสียหายได้เดินทางไปพบกับผู้ต้องหาด้วยตนเอง ซึ่งงานดังกล่าวได้เกิดปัญหาบ้านสร้างไม่ตรงหมุด ผู้เสียหายจึงได้นัดเจ้าหน้าที่รังวัดให้ไปช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อไปไซต์งาน ผู้ต้องหาเดินเข้ามาต่อว่าผู้เสียหายและท้าทาย
โดยผู้เสียหายไม่เคยมีปัญหาผู้ต้องหามาก่อน ภายหลังจึงได้เดินทางไปโรงพักเพื่อลงบันทึกประจำไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ผู้เสียหายยืนยันหน้าตาของผู้ต้องหา แต่ปรากฏว่าหน้าตาวิศวกรในใบประกอบวิชาชีพไม่ใช่วิศวกรที่ผู้เสียหายว่าจ้าง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบัญชีรับโอนเงินการว่าจ้างงานเป็นบัญชีของเพื่อนผู้ต้องหา
ต่อมาผู้เสียหายจึงได้ค้นข้อมูลพบชื่อวิศวกรตามใบประกอบวิชาชีพพร้อมเบอร์โทรในอินเตอร์เน็ต ซึ่งปลายสายยืนยันว่าตนคือบุคคลตามใบประกอบวิชาชีพจริง และไม่เคยติดต่อรับงานกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงทราบว่าผู้ต้องหาได้ปลอมใบประกอบวิชาชีพ
โดยตัดต่อรูปผู้ต้องหาแทนที่รูปวิศวกรตัวจริง พร้อมใช้ชื่อ ข้อมูลต่าง ๆ ของวิศวกรคนดังกล่าว ผู้เสียหายจึงเชื่อแล้วว่าตนถูกหลอกให้ได้รับความเสียหาย จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป
ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาล และศาลอนุมัติตามคำขอ
กระทั่งชุดสืบสวนได้ทำการสืบสวนติดตามตัว ทราบว่าหลังจากเกิดเหตุผู้ต้องหา ได้หลบหนีมาอาศัยอยู่ที่บ้านพักแห่งหนึ่งแถวแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร จึงได้ไปซุ่มเฝ้าผู้ต้องหาหน้าบ้านดังกล่าว จนพบผู้ต้องหาเดินออกมาบริเวณนอกบ้าน จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมได้ทำการแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ถูกจับทราบและเข้าใจดีแล้ว รับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและไม่เคยถูกจับตามหมายจับดังกล่าวมาก่อน” จึงได้นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา