ยโสธร บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่วัดฟ้าห่วนใต้ ตำบลฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร นายชาญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานฝ่ายฆราวาสนำประกอบพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 73 พรรษา และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสคล้ายวันพระราชสมภพ ที่จังหวัดยโสธร ร่วมกับ คณะสงฆ์ภาค 10 คณะสงฆ์จังหวัดยโสธร คณะสงฆ์อำเภอค้อวัง และภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2-22 เมษายน 2568 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งเพื่อและสืบสานพระราชปณิธานการทำความดีในการทำนุบำรุงพระศาสนา เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดยโสธร จำนวน 85 คน ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสขัดกล่อมจิตใจ ศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ระหว่างปิดภาคเรียน และหลังลาสิขาไปแล้วได้นำกลับมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีพระครูปริยัติ คณาภิรักษ์ เจ้าคณะอำเภอค้อวัง เจ้าอาวาสวัดฟ้าห่วนใต้เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนางนันทพร ศรศรีวิชัย นายกเหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยโสธร ว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดยโสธรร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้การบรรพชาอุปสมบท หรือการบวชนั้น เป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยและพุทธศาสนิกชนนิยมให้ลูกหลานเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะดำรงภาวะของความเป็นนักบวชเพียงชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อยก็มีความพอใจ เพราะคนโบราณถือว่าคนที่ยังไม่ได้บวชเรียนเป็นคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังไม่ควรแก่การครองเรือน ดังนั้นผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องบวชก่อน ซึ่งการบวชถือเป็นการอบรมบ่มนิสัย กล่อมเกลาจิตใจให้ทุกคนเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องได้มีโอกาสทำบุญเพิ่มขึ้นจนเป็นที่มาของคำว่า เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ อีกทั้งเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่เคารพนับถือ ทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีความยั่งยืนและเชิดชูศาสนาพุทธให้รุ่งเรืองสืบไป โดยผู้ที่บวชจะได้ศึกษาข้อคิดและฝึกปฏิบัติปรับเปลี่ยนนิสัยตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ยิ่งแก้ไขได้มากเท่าไหร่หนทางข้างหน้าจะยิ่งราบรื่นมากเท่านั้นเพราะ ใจจะคิดในสิ่งที่ควรคิด ปากจะพูดในสิ่งที่ควรพูด กายจะทำในสิ่งที่ควรทำ เป็นการนำความเจริญมาสู่ตัวเอง ครอบครัวและสังคม โดยคำว่า บรรพชา จะหมายถึงการบวชเป็นสามเณร ส่วนคำว่าอุปสมบท จะหมายถึงการบวชเป็นพระภิกษุ โดยก่อนการอุปสมบทจะต้องมีการบรรพชาเป็นสามเณรตามพระวินัยบัญญัติก่อน ทั้งนี้อนุญาตให้พระอุปัชฌาย์สามารถทำการบรรพชาได้โดยไม่ต้องประชุมสงฆ์ จากนั้นจึงจะมีการอุปสมบทเพื่อเป็นพระภิกษุ ดังนั้นจึงมักนิยมใช้คำควบคู่กันว่า บรรพชาอุปสมบท ในการบวชพระภิกษุ
000000000000000000000000000000000000000000
ยโสธร รายงา
น