รวบอดีตแม่บ้าน สวมรอยเป็นกรรมการบริษัททิพย์ออกใบกำกับภาษีปลอม กว่า 188 ฉบับ รัฐเสียหายมูลค่ากว่า 131 ล้านบาท กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.นฤพนธ์ กรุณา ผกก.2 บก.ปอศ. และ พ.ต.ท.วันเผด็จ จันยะรมณ์ รอง ผกก.2 บก.ปอศ., พ.ต.ท.ชวพล เชื้อเพ็ชร์ รอง ผกก.2 บก.ปอศ. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.นพคุณ ทัศนมาลัย สว.กก.2 บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ชุดปฏิบัติการที่ 4 กก.2 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม นางสาวเยาวลักษณ์ ฯ อายุ 64 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี ที่ 271/2567 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2567 ในฐานะนิติบุคคลและฐานะส่วนตัว ในความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับ ภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าห้องพัก ถ.ลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ พฤติการณ์ เนื่องด้วยกรมสรรพากรได้มาร้องทุกข์ที่ กก.2 บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญาความผิดกับ บริษัทแห่งหนึ่ง ในฐานะนิติบุคคล และ น.ส.เยาวลักษณ์ ฯ กรรมการ ผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ในข้อหา “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร” กล่าวคือ ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 บริษัท ดังกล่าว มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง แต่เจ้าพนักงานกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าว ไม่มีการประกอบกิจการ ณ สถานประกอบการดังกล่าวจริง โดยสถานที่ตั้งบริษัท มีลักษณะเป็นเพียงบ้านเช่า ไม่พบการประกอบกิจการของบริษัทฯ แต่อย่างใด สอบถามผู้อาศัยข้างเคียงให้การว่า บริษัทดังกล่าว ไม่ได้มีการประกอบกิจการแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถติดต่อได้ กรมสรรพากรจึงเชื่อได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมา ไม่ได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจริง ประกอบกับบริษัทดังกล่าวไม่ส่งมอบเอกสารให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบ แต่บริษัทดังกล่าวได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกช่วงเดือนภาษีสิงหาคม 2566 ถึงเดือนภาษีมีนาคม 2559 ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ประกอบกับกรมสรรพากรได้รับแจ้งจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่าง ๆ พบว่ามีใบกำกับภาษีขายที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ออกโดยบริษัทนี้ไปยังผู้ประกอบเพื่อใช้ยื่นขอเครดิตภาษี (ขอคืน) ต่อกรมสรรพากร รวมใบกำกับภาษีจำนวน 188 ฉบับ ซึ่งใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นเท็จทั้งสิ้น และไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริงแต่อย่างใด ซึ่งได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินจำนวนกว่า 131 ล้านบาท ข้อมูลดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า การออกใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากนั้นพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. ได้อออกหมายเรียกเพื่อติดต่อตัวกรรมการมาทราบ ข้อกล่าวหา แต่ก็ไม่มีผู้ใดมาพบพนักงานสอบสวนตามที่ออกหมายเรียกไป จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี พนักงานสอบสวนจึงได้ขออนุญาตศาลเพื่อออกหมายจับ นำตัวกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หลังจากที่ศาลได้อนุมัติหมายจับแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอศ. ชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนมาโดยตลอด ประกอบกับหมายจับใกล้จะหมดอายุความในอีก 2 เดือนเศษ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่มีมูลค่าความเสียหายสูง จึงได้เร่งดำเนินการสืบสวนจนทราบว่า นางสาวเยาวลักษณ์ฯ ผู้ต้องหา อยู่ในพื้นที่ถ.ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร จึงติดตามกระทั่งพบตัวผู้ต้องหา ทำการจับกุมและนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้รายละเอียดในคำให้การว่าตนไม่รู้จักบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด โดยให้การเพียงว่า เมื่อปี 2556 ตนเองประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยทำงานเป็นแม่บ้าน ซึ่งมีนายจ้าง (จำชื่อสกุลจริงไม่ได้) ได้มาขอบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้เพื่อดำเนินการในเรื่องสวัสดิการให้ จึงไม่ทราบว่าจะนำมาใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว เตือนภัย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยฉ้อโกง หรือใช้กลอุบาย ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งถือว่า เป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และฝากเตือนถึงประชาชน ห้ามขาย หรือ ให้บัตรประชาชน หรือให้ข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ แก่ผู้อื่นโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ มิเช่นนั้นจะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว และอาจถูกนำข้อมูลในบัตรประชาชนไปสวมรอยจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลได้โดยไม่รู้ตัว เพราะในการเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ หากไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความโปร่งใส ก็ย่อมมีแนวโน้มที่นิติบุคคลรายนั้นจะประกอบธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับมีเจตนาที่จะจัดตั้งธุรกิจขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้อื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ