‘ผบ.ตร.’ ไลฟ์เฟซบุ๊ก เปิดรายการ ‘ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์’ เล่าที่มาโครงการ Smart Safety Zone สร้างชุมชนปลอดภัย ลดความหวาดกลัวอาชญากรรม
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” รายการสดเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ Smart Safety Zone และ คลับเฮ้าส์ : ปั๊ดอยากเล่าน้องอยากแชร์ เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” เป็นรายการสด ที่ผบ.ตร.พูดคุยกับตำรวจและประชาชน เกี่ยวกับโครงการ Smart Safety Zone 4.0 โครงการที่นำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ กล้องวงจรปิด, ศูนย์ควบคุม CCOC, ระบบ AI และแอปพลิเคชัน ต่างๆ เป็นกลไกหลักในการดูแลความปลอดภัยของชุมชน จนได้รับรางวัลจากการประชุมสุดยอดตำรวจโลก World Police Summit 2022 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรายการในตอนแรก พูดคุยในประเด็น ที่มาของโครงการ Smart Safety Zone 4.0 มี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร. , ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ และ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ร่วมรายงาน มีข้าราชการตำรวจและประชาชนที่สนใจ ร่วมรับฟัง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวถึงที่มาของ Smart Safety Zone 4.0 ว่า การดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะภัยอันตรายบนพื้นที่สาธารณะ เป็นภารกิจแรกๆ ของตำรวจ การจะทำให้สำเร็จต้องอาศัยทรัพยากรทุกอย่าง ทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาคประชาชน ส่วนราชการอื่นๆ ระดมสรรพกำลังเพื่อภารกิจนี้ ซึ่งการวัดผลของโครงการคือการที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดกลัวอาชญากรรม
“จะมีสักซอยไหม ที่เดินกลางคืน คนไม่กลัวอะไร โดยเฉพาะสุภาพสตรี นี่คือเป้าหมายของโครงการนี้ ที่ต้องไปให้ถึง ตำรวจทั่วประเทศต้องเข้าใจว่าเรามีหลักชัยเดียวกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย” ผบ.ตร. กล่าว
ผบ.ตร. ระบุว่า โครงการ Smart Safety Zone 4.0 เริ่มต้นจากการทำแซนด์บ็อกซ์ ในพื้นที่ทดลองก่อน เนื่องมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกำลังคน ดังนั้นจึงเริ่มทำในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ใส่เทคโนโลยีเข้าไป ใส่คนเข้าไป และที่สำคัญใส่ความร่วมมือเข้าไป ทั้งความร่วมมือจากส่วนราชการและประชาชน ใช้หลักการคอมมูนิตี้ โพลิซซิ่ง หรือตำรวจชุมชน ผสมผสานกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก หัวใจสำคัญคือการแสวงหาความร่วมมือ โดยช่วงเริ่มต้นได้รับความมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ให้งบประมาณเริ่มต้น จากเดิมพื้นที่นำร่อง ตอนนี้ขยายไปหลายจุดทั่วประเทศ และจะทำต่อไป
ในตอนหนึ่ง ผบ.ตร.ตอบคำถามถึงการหลอกลวง ฉ้อโกงทางออนไลน์ ว่า หากถูกหลอกลวง ทางออนไลน์ ได้รับความเสียหาย ประชาชน สามารถแจ้งความออนไลน์ ได้ที่ www.Thaipoliceonline.com ซึ่งเปิดรับแจ้งความทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังแจ้งได้ที่สายด่วน 1441 ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวว่า ถ้าคุณถูกหลอกออนไลน์ได้ คุณก็ต้องแจ้งความทางออนไลน์ได้เหมือนกัน รับประกัน 4 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่ตอบกลับ และดำเนินการต่อหากพบว่าเป็นคดีเกี่ยวโยงต่อเนื่อง ตำรวจ บช.สอท.จะดำเนินการต่อ หากเป็นคดีเสียหายไม่มาก ไม่เกี่ยวโยงกันเป็นเครือข่าย ระดับสถานีตำรวจจะรับไปดำเนินการสืบสวนสอบสวน อย่างไรก็ตามการรับแจ้งความออนไลน์ยังเป็นเรื่องใหม่ ตำรวจยอมรับว่ายังมีจุดที่ต้องปรับปรุง แก้ไขตลอดเวลา โดยจะปรับปรุง พัฒนาอย่างเต็มที่จนลงตัว ตนให้กำลังใจทีมที่คิดทำระบบรับแจ้งความออนไลน์ ให้ทิศทางในการพัฒนา ขณะนี้ปรับแก้ตลอดเวลา นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ทำความตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน 21 แห่ง มีความร่วมมือในการประสานงานอายัดบัญชีธนาคาร แต่ยังต้องปรับปรุงเพื่อให้การอายัดบัญชีทำได้รวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันมีความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ในการระงับ ตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์จากต่างประเทศที่โทรเข้ามาหลอกลวง ทั้งนี้หากมีเบอร์ไม่พึงประสงค์โทรเข้ามา ประชาชนสามารถแจ้งได้ที่หมายเลขสายด่วน 1200 ของกสทช. หรือ Call Center ของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือต่างๆ
ผบ.ตร. กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ฝากพี่น้องประชาชนคือการมีไซเบอร์วัคซีน ที่จะป้องกันจากโรคนี้ สร้างการรับรู้ภัยอาชญากรรมประเภทนี้ ตนดีใจมากที่เห็นคลิป TikTok ต่างๆ ที่ประชาชนนำแผนประทุษกรรมของคนร้ายออกมาเตือนภัยให้คนอื่นเห็น คนอื่นๆจะได้ไม่ถูกหลอก แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ทราบ ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเตือนภัยเหล่านี้ ขอให้ช่วยกันกระจาย เผยแพร่เตือนภัยอาชญากรรมออนไลน์ รูปแบบการหลอกลวงให้เข้าถึงทุกครัวเรือนโดยเฉพาะเด็กๆและเยาวชน ขณะเดียวกันมีแนวคิดสังคยานากฎหมายให้สามารถเป็นเครื่องมือที่เท่าทันอาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวในตอนหนึ่ง ฝากถึงเพื่อนข้าราชการตำรวจในยุคเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนจากการทำงานแบบเดิมๆ ไปสู่การทำงานแบบใหม่ที่ไม่คุ้นชิน โดยเฉพาะคดีฉ้อโกงออนไลน์ต่างๆ ต้องเรียนรู้การไล่ตามจับคนร้ายจาก IP address จนบางทีรู้สึกเป็นภาระกดดัน
“ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าเราทำไป มีพลาดบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ถ้าเรามุ่งมั่น วันหนึ่งมันจะประสบความสำเร็จ และความยากจะกลายเป็นนิวนอร์มอลของเรา มันจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ง่ายต่อไป เรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน หลายคนบ่นกับผมทำไมโครงการเยอะจังเลย แต่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ถ้าเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงว่าสิ่งที่เราทำวนไปวนมาแล้วไม่เกิดประโยชน์มันจะลดลง เราเชื่อว่ามันจะทำให้เราทำงานอย่างชาญฉลาด คือทำงานจำนวนหนึ่ง แต่ได้ผลมากกว่าเดิม อยากให้ทุกคนตั้งใจ ผมจะเป็นกำลังใจให้”
ผบ.ตร. ย้ำด้วยว่า เรากำลังอยู่บนโลกใบนี้ โลกที่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นมา
“ผมพยายามพูดหลายครั้ง สิ่งสำคัญในยุคนี้ คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือคนอ่อนแอไม่รอด แต่คนที่อยู่รอดไม่ใช่เพียงต้องแข็งแรง แต่คือคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด เราอยู่ในช่วงของการปรับตัว” ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวฝากถึงประชาชนว่า ต้องเข้าใจและเรียนรู้สังคมใหม่ๆ เทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆและอาชญากรรมใหม่ๆ อาชญากรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมเราต้องเรียนรู้ ปรับตัวให้อยู่รอด ในส่วนของตำรวจนั้นมีความตั้งใจจริง หวังว่าสิ่งที่เราทำ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น
“ทุกคนมีลูกมีหลาน ผมเองก็มีลูก ผมอยากให้ลูกผมอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ลูกผมเดินถนนได้โดยไม่ต้องกลัวใครมากระชากกระเป๋า ตีหัวเรา หรืออยู่บ้านก็ไม่มีใครมาหลอกเอาเงินจากกระเป๋าไป ก็ต้องเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันนะครับ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผบ.ตร.ทิ้งท้ายในรายการ
สำหรับโครงการ Smart Safety Zone 4.0 เป็นโครงการที่นำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยมาใช้ มีเทคโนโลยี และความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนลดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม มีความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ ในเบื้องต้นเริ่มทำโครงการนำร่องในพื้นที่สถานีตำรวจ 15 แห่ง อาทิ สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี สภ.เมืองพัทยา สภ.เมืองราชบุรี สภ.เมืองภูเก็ต สภ.หาดใหญ่ ฯลฯ ปัจจุบันขยายโครงการเพิ่มอีก 100 สถานี ทั่วประเทศ