กองปราบรวบบัญชีม้าแก๊ง “Hybrid Scam” หลอกให้เหยื่อเชื่อใจ แล้วชักชวนลงทุน เสียหายกว่า 46 ล้านบาท กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงษ์พิทักษ์ เหล็กชูชาติ รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงศกร ตันอารีย์ รอง ผกก.3 บก.ป. และพ.ต.ท.อภิมัณฑ์ บานชื่น รอง ผกก.3 บก.ป. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.อาธิรัตน์ ทิพย์เจริญ สว.กก.3 บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป. ร่วมกันจับกุม นายราชาฯ อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5120/2567 ลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2567 โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยฟุตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบโดยการตกลงตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันเป็นอั้งยี่” สถานที่จับกุม บ้านหลังหนึ่ง ม.5 ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย สืบเนื่องจาก เมื่อต้นเดือน สิงหาคม 2567 ผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ กับ พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อให้ติดตามคนร้ายที่ก่อเหตุ ใช้เฟซบุ๊กปลอม แล้วมาหลอกให้รัก ชักชวนลงทุน เสียหายไปกว่า 46 ล้านบาท โดยคนร้ายได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมเป็นบุคคลอื่นหลอกให้ผู้เสียหายรักและไว้ใจ จากนั้นชักชวนลงทุนผ่านลิงค์แอปพลิเคชันแอปหนึ่ง โดยคนร้ายใช้แอปพลิเคชันเฟชบุ๊ก ที่มีรูปโปรไฟล์เป็นหนุ่มหล่อ ดูดีมีฐานะ ส่งข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์มายังบัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย โดยแนะนำว่าตัวเองชื่อ “New หรือ นิว” และมีการพูดคุยทักทายกันเรื่อยมา จากนั้นผู้เสียหายชวนคนร้ายพูดคุยต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยคนร้ายก็ได้มีการส่งคิวอาร์โค้ด สำหรับทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์มาให้ผู้เสียหายด้วยเช่นกัน โดยผู้เสียหายเป็นคนทำการเพิ่มเพื่อนด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่คนร้ายส่งมาให้ พบว่ารูปโปรไฟล์เป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันจริง จากนั้นได้มีการพิมพ์ข้อความสนทนาผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์กับคนร้ายจนเกิดความสนิทสนมและไว้เนื้อเชื่อใจ นอกจากนั้น ผู้เสียหายได้มีการโทรพูดคุยผ่านไลน์และวิดีโอคอลกับคนร้ายหลายครั้ง จากนั้นคนร้ายได้ชักชวนผู้เสียหายทำการลงทุน โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนซื้อหุ้นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยคนร้ายได้ ส่งลิงก์มาให้ผู้เสียหาย ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ของผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายได้กดลิงก์เข้าไปดู พบว่าเป็นแอปพลิเคชันแอปหนึ่ง ผู้เสียหายหลงเชื่อและทำการโอนเงินลงทุน จำนวน 45 ครั้ง โดยโอนเงินไปบัญชีคนร้ายกว่า 25 บัญชี เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย มูลค่าเกือบ 46 ล้านบาท ซึ่งครั้งแรกๆ จะได้รับผลตอบแทนจริง แต่หลังจากที่มีการลงทุนไปนั้น คนร้ายจะใช้กลวิธีคุยหลอกล่อใจให้ผู้เสียหายลงทุนเพิ่มแต่ไม่ได้รับตอบแทน และไม่สามารถติดต่อกับคนร้ายได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงให้ได้รับความเสียหาย โดย พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับกลุ่มเจ้าบัญชีที่ใช้รับโอนเงินของผู้เสียหายดังกล่าว ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.67 ทาง บก.ปอท. ได้เปิดปฏิบัติการ “Annihilate Hybrid Scam ทลายแก๊ง หลอกรักลวงลงทุน” โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 20 ราย ยึดของกลางและทรัพย์สินต่างๆ รวม 208 รายการ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชี ซิมโทรศัพท์ บัตรประชาชนของบุคคลอื่น สลิปฝากเงินสด นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งภายหลังจากการจับกุมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ายังมี ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ต้องติดตามตัวมาดำเนินคดีอีกหลายราย พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป. จึงได้สั่งการให้ พ.ต.ต.อาธิรัตน์ ทิพย์เจริญ สว.กก.3 บก.ป. ดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหา จากการสืบสวนทราบว่า นายราชาฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับซึ่งมีหน้าที่เป็นบัญชีม้ารับเงิน ได้หลบหนีมาอยู่ที่ บ้านหลังหนึ่ง ม.5 ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย ต่อมา พ.ต.ต.อาธิรัตน์ฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงได้ลงพื้นที่สืบสวน และทำการจับกุมตัวนายราชาฯ และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป จากการสอบสวนเบื้องต้น ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอฝากเตือนภัยประชาชน ในยุคปัจจุบันนี้ มิจฉาชีพมีการใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ การโปรโมทสินค้า หรือพบโฆษณาหลอกลวงเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook, Line และ TikTok ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัยต่อการถูกหลอกลวง


