นนทบุรี คลิปเสียง ทนายกบเดือดแจ้งความธนาคารชื่อดังหักเงินในบัญชี 325,363 บาท อ้างค้างชำระหนี้ ค่าเช่าซื้อรถ ขณะคดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นายณธัชพงศ์ บุญเกิด หรือ “ทนายกบ” อายุ 44 ปี เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรม หลังถูกธนาคารชื่อดังหักเงินจากบัญชีรวม 325,363 บาท โดยธนาคารอ้างว่าเป็นยอดหนี้ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์จำนวน 2 คัน รวม 82,728 บาท ทั้งที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนนทบุรีในคดีแพ่ง และยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ทนายกบจึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง ฐาน “ยักยอกทรัพย์” นายณธัชพงศ์ หรือทนายกบ เปิดเผยว่า ตนได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ 2 คัน ได้แก่ Toyota Prius และ Honda City กับธนาคารแห่งหนึ่ง แต่ในช่วงวิกฤตโควิดปี 2566 ได้ค้างชำระประมาณ 5-6 งวด ส่งผลให้ธนาคารส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ต่อมาตนได้เจรจากับธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค.66 โดยบันทึกเสียงไว้ ซึ่งได้รับแจ้งว่าหากชำระค่างวดขั้นต่ำตามกำหนดคือวันที่ 28-29 ก.ค.66 ธนาคารจะไม่ฟ้องร้อง โดยมีเงื่อนไขดังนี้ คือ รถ Toyota Prius: ต้องชำระขั้นต่ำ 39,400 บาท (รวมค่าต่อสัญญา 1,000 บาท) และ Honda City ต้องชำระขั้นต่ำ 45,328 บาท (รวมค่าต่อสัญญา 1,000 บาท) หลังจากได้รับแจ้งจากธนาคารตนก็ได้พูดคุยกันเรียบร้อยขอเวลาถึงสิ้นเดือนดังกล่าว แต่ทางตนได้นำเงินมาจ่ายก่อนเวลากำหนด รถ Toyota ตนจ่ายในวันที่ 13 ก.ค.66 ส่วนอีกคันจ่ายวันที่ 20 ก.ค.66 ครบตามยอดที่กำหนด ซึ่งตนได้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างครบถ้วน แต่ภายหลังกลับได้รับหมายศาล แจ้งว่าถูกฟ้องร้องตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 66 ก่อนวันที่ตนจะชำระค่างวดของทั้งสองคันที่ค้างไว้ตามที่ได้พูดคุยเจรจาผ่านโทรศัพท์ ทำให้เชื่อว่าเกิดความคลาดเคลื่อนภายในฝ่ายเจรจาหนี้ของธนาคาร จึงคิดว่าทีมเจรจากับทีมฟ้องร้องของธนาคารทำงานแยกกัน มีการแจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ตนได้รับหมายศาลมาทีหลัง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายธนาคารยืนยันว่าถ้าชำระตามเงื่อนไข จะไม่ถูกฟ้อง เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ตนคืนรถ หากไม่สามารถคืนได้ต้องชดใช้เป็นเงินแทน ตนจึงยื่นอุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับคดี โดยคดีของ Toyota Prius ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ธนาคารกลับหักเงินจากบัญชีของตนเป็นจำนวน 203,456 บาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายของธนาคารในการหักเงินลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระ โดยไม่สนใจว่าคดีอยู่ในขั้นตอนใด หลังจากถูกหักเงิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายประนอมหนี้ของธนาคารโทรมาหา บอกให้เลือก 3 ทางเลือก คือ (1) คืนรถ (2) ใช้เงินสดซื้อรถขาดในราคาที่กำหนด หรือ (3) ชำระเป็นงวดให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่ในระหว่างที่ยังตัดสินใจไม่ทัน ก็ถูกธนาคารหักเงินจากบัญชีไปอีก 121,907 บาท ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 การหักเงินทั้งสองครั้งเกิดขึ้นขณะที่คดียังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และไม่มีหมายบังคับคดีจากศาล การกระทำของธนาคารจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและขัดต่อกระบวนการยุติธรรม ทนายกบ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจหลักกฎหมายและกระบวนการบังคับคดีเป็นอย่างดี แต่กลับถูกธนาคารดำเนินการหักเงินโดยพลการ จึงตั้งคำถามว่า หากเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย อาจถูกเอาเปรียบได้ง่ายกว่านี้ ตนเป็นทนายความ ยังโดนกระทำแบบนี้ คนที่ไม่มีความรู้กฎหมายจะสู้ได้อย่างไร ธนาคารมีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่กลับใช้วิธีบังคับลูกหนี้แบบนี้ ทั้งที่คำพิพากษายังไม่สิ้นสุด ตนขอความเป็นธรรมจากสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ



