ตำรวจไซเบอร์ประเมินสถานการณ์แนวชายแดน หลังมาตรการกดดันจากไทยได้ผล เผย 260 คนที่รับตัวกลับโดนหลอกแค่ 1 ราย นอกนั้นเต็มใจไปทำงาน
.
วันที่ 15 ก.พ.68 เวลา 14.30 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท. (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ตำรวจไซเบอร์ประเมินสถานการณ์แนวชายแดน หลังมาตรการกดดันจากไทยได้ผล เผย 260 คนที่รับตัวกลับโดนหลอกแค่ 1 นอกนั้นเต็มใจไปทำงาน
.
สืบเนื่องจากที่รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งให้ตัดไฟที่ส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 5 จุดยุทธศาสตร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ.68 ศูนย์สั่งการชายแดนระหว่าง ไทย-พม่า ได้รับการประสานจากฝั่ง อ.เมียวดี รัฐกระเหรี่ยง ทำการส่งตัวชาวต่างชาติ ที่เข้าข่ายถูกหลอกลวงกลับเข่ามาประเทศไทยผ่านช่องทางขนส่งสินค้า ที่ 28 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 260 คน และในวันที่ 14 ก.พ. กองกำลัง BGF พร้อมอาวุธได้เข้าควบคุม ตึกโครงการย่าไถ่ เมืองชเวโก๊กโก และช่วยเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 2,000 คน และกำลังจะส่งกลับประเทศไทยผ่านทาง บ.วังแก้ว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ภายในวันที่ 15 ก.พ. 68 เป็นต้นไป
.
ขณะที่สถานการณ์ในฝั่งชายแดน จ.กาญจนบุรี ตำรวจไซเบอร์ได้เปิดเผยว่า ได้ตรวจพบสายอินเทอร์เน็ต ที่มีการลักลอบเชื่อมโยง ออกจากผู้รับบริการชาวไทย ซึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านดัดแปลงสัญญาณไปทางสาย โดยโยงสายอินเทอร์เน็ตข้ามไปชายแดน เนื่องจากว่าพื้นที่บ้านของผู้ลักลอบอยู่ติดกันกับประเทศเพื่อนบ้าน มีถนนคั่นกลางเพียง 3-4 เมตร นอกจากนี้ยังพบการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของค่ายโทรศัพท์มือถือเอกชน ซึ่งทำผิดข้อกำหนดของ พ.ร.บ.โทรคมนาคม ของ กสทช. โดยมีการหันเสาสัญญาณไปยังเขตประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อว่าการส่งสัญญาณลักษณะนี้ไม่ได้ส่งให้ประชาชนคนไทยตามแนวชายแดนใช้ จึงคาดการณ์เป็นการส่งสัญญาณให้กับประเทศเพื่อนบ้านใช้บริการ โดยทางเรามีการประสานกับทาง กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
อีกทั้ง พบว่ามีการลักลอบจ่ายกระแสไฟข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนนี้ทางเราก็มีการประสานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน โดยจุดที่ลักลอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตรวมถึงจ่ายกระแสไฟฟ้า ห่างกับที่ทำการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพียงไม่กี่เมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ย.67 ได้มีชาวจีนและคนไทยหลบหนีออกมาจากสถานที่ดังกล่าวจำนวนหลายคน
.
สรุปสถานการณ์การส่งตัวกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน
- จำนวนผู้ถูกส่งตัวกลับจากชเวก๊กโกในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 มีทั้งหมด 260 คน โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร, ฝ่ายปกครอง, และ สตม. เพื่อดำเนินการตรวจสอบและซักถามข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งคิดเป็น 90% ของผู้ส่งตัวกลับ
- จากการซักถาม มีเพียง 1 คนที่ถูกหลอกไปและเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ส่วน 259 คนที่เหลือสมัครใจไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- สถานการณ์ทั่วไปยังคงมีการติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศ
.
ข้อสั่งการและแผนการดำเนินการต่อไป - ทุกการส่งตัวกลับต้องทราบล่วงหน้า และมีการประสานงานอย่างเป็นระบบ
- เข้าร่วมซักถามเหยื่อ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายขบวนการคอลเซ็นเตอร์
- ตรวจสอบว่า ไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง กับขบวนการหรือไม่ เช่น การพาคนข้ามแดน
- พิจารณาข้อกล่าวหา การนำบุคคลข้ามประเทศโดยผิดกฎหมาย
- ตำรวจไซเบอร์ต้องซักถามเหยื่อโดยละเอียด และรายงานตามลำดับชั้น
- ชุดประสานงานชายแดนต้องทำงานต่อเนื่อง
- สรุปรายงาน ให้ชัดเจนว่าผู้กระทำผิดเข้าข่ายข้อหาใด
- ตรวจสอบ จำนวนเหยื่อ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสม
- เก็บแฟ้มข้อมูลทุกการจับกุม และทำรายงาน สถานการณ์แนวชายแดนทุกวัน