วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 เวลา 08.30 น. ณ เรือนจำกลางระยอง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเยี่ยมญาติใกล้ชิด ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โดยมี นายไพรัตน์ ขมินทกูล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายเกียรติกร ปัทมทัตต์
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำประธานเขต2) และนายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการ
เรือนจำกลางระยอง พร้อมด้วยผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เขต 2 ร่วมให้การต้อนรับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกิจกรรมเยี่ยมญาติใกล้ชิด เพื่อให้กำลังใจและมอบแนวทางการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยกล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมสำหรับนโยบายสำคัญประการหนึ่ง คือ “ความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือ ความยุติธรรม นำประเทศ” ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ในด้านการพัฒนาพฤตินิสัย มีเป้าหมายหลัก เพื่อมุ่งเน้น
การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขและฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการพัฒนาพฤตินิสัย เป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมได้ให้ความสำคัญตลอดมา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างยั่งยืน
จากนั้น พันตำรวจเอก ทวีฯ ได้เข้าเยี่ยมชมแดนการศึกษา พร้อมรับชมการจัดแสดงนิทรรศการ Art Gallery TO BE CREATIVE และการแสดงต่าง ๆ ของผู้ต้องขัง ต่อมาพันตำรวจเอก ทวีฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสนามฟุตบอลเรือนจำกลางระยอง เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่
ในเรือนจำฯ ในการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เรือนจำกลางระยอง เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุด ได้ดำเนินกระบวนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องราชทัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการรับตัว การตรวจร่างกาย การทำประวัติ การจำแนกลักษณะผู้ต้องราชทัณฑ์ รวมถึงกำหนด”แผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ 1. ด้านจิตใจ เพื่อพัฒนากล่อมเกลาจิตใจ 2. ด้านร่างกาย เพื่อสร้างความแข็งแรงและระเบียบวินัย 3. ด้านความรู้ โดยการให้ศึกษาตั้งแต่ผู้ไม่รู้หนังสือถึงระดับปริญญาตรี และการฝึกวิชาชีพต่าง ๆ 4. ด้านความคิด เพื่อปรับทัศนคติโดยใช้โปรแกรมต่าง ๆ เช่น โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องราชทัณฑ์คดียาเสพติด นอกจากนี้ยังนำนโยบาย 6 อ. ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ 1. อาหาร 2. อาศัย 3. อนามัย 4. โอกาส 5. อาชีพ 6. อัตลักษณ์ และการปราศจากความอยุติธรรมมาปฏิบัติในงานราชทัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการติดตามภายหลังพ้นโทษ เพื่อให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ มีความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคม โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ และ
เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป